29 มีนาคม 2567

ข่าวประกาศ

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2565 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับสมัครบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล รับสมัครบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565 กรมทางหลวง รับสมัครเข้ารับราชการ จำนวน 6 ตำแหน่ง สมัครตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 14 มีนาคม 2565 กรมสรรพสามิต รับสมัครบุคคล (คนพิการ) เป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565

ดูบทความอาจารย์ ม.มหาสารคาม นำร่อง โนพลาสติกทำได้....เริ่มที่ตัวเรา ลดวิกฤตการณ์ปัญหา "ขยะ" วาระแห่งชาติ

อาจารย์ ม.มหาสารคาม นำร่อง โนพลาสติกทำได้....เริ่มที่ตัวเรา ลดวิกฤตการณ์ปัญหา "ขยะ" วาระแห่งชาติ

หมวดหมู่: การศึกษา

อาจารย์จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ทำให้ดู ให้รู้ว่าทำได้  ไม่ใช้ถุงพลาสติกในทุกกรณี  ถือแก้วหรือกระบอกน้ำไปที่ร้านน้ำ  นำถุงผ้าไปจับจ่ายซื้อของ  ถือกล่องอเนกประสงค์ไปร้านอาหาร ใช้หลอดแบบล้างได้ใช้อีก สารพัดวิธีที่จะปฏิบัติได้  โนพลาสติก จึงเริ่มที่ตัวเอง ก่อนสร้างกลุ่มนิสิต และบุคลากร สู่การบอกกล่าวให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาขยะและแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง มากกว่าจะเป็นที่ปลายทาง

 



ดร.จุฑามาส แก้วสุข อาจารย์ Astrud Lea Beringer และดร.ธายุกร พระบำรุง อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่มีแนวคิดร่วมกันในการจัดการขยะที่ต้นทาง ในแนวคิด โนพลาสติก “No Plastic Campaign MSU” สร้างการตื่นรู้ สู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดวิกฤตการณ์ปัญหา "ขยะ" วาระแห่งชาติ

 



โดยอาจารย์ เปิดเผยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้เห็นปัญหาพลาสติกในประเทศไทยว่ามีปริมาณการใช้ที่สูง ซึ่งทุกร้านและทุกคน มักใช้ถุงพลาสติก เมื่อต้องเข้าร้านสะดวกซื้อ เข้าห้าง เดินตลาด จึงทำให้เกิดการสะสมของปริมาณถุงพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ไม่รวมหีบห่อบรรจุภัณฑ์ที่ติดมาด้วย  และประเทศไทยเอง ได้กำหนดให้ปัญหาขยะ เป็นวาระแห่งชาติ จากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติก ประกอบกับการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ก่อให้เกิดขยะ 60% ในมหาสมุทร และสำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้น ก่อให้เกิดขยะมากถึง 2.51 ตัน/วัน ซึ่งถึงว่าเป็นปริมาณที่สูง

ในขณะที่สถานที่กำจัดขยะหนองปลิง  อำเภอเมือง  จังหวัดมหาสารคาม มีขีดความสามารถที่จำกัดและยังประสบปัญหาด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่มีท่าทีจะลดลงหรือกำจัดไปได้หมด  ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้คิดร่วมกันว่า จะทำยังไงกันดี  ทำไมคนไทย ถึงใช้ถุงกันเยอะจัง ก็เลยคิดเริ่มแคมเปญ "No Plastic Campaign MSU" นี้ขึ้น อีกทั้งเพื่อสนับสนุนนโยบายมหาวิทยาลัยในการพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณทั้งหมดจาก Media and Cultural Office, U.S. Embassy Bangkok

 

 


“โดยสิ่งแรกที่คิดคือ มองว่า โครงการรณรงค์ลดขยะทำกันมาเยอะแล้ว และก็ยังไม่มีอะไรเห็นผลเป็นรูปธรรม เราก็เลยคิดว่า เราจะไม่ทำเหมือนคนอื่นที่เขาประกวดใส่ชุดรีไซเคิลเดินแบบ หรือทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เราคิดว่าเราไม่โฟกัสตรงนั้นดีกว่า เราอยากเปลี่ยนพฤติกรรมคนใช้   ด้วยการไม่เอาเลย  ไม่ใช้พลาสติกเลย   อันนี้คือเป้าหมายของเรา เป้าหมายที่สูงสุด คือ ทุกคนปฏิเสธการใช้พลาสติก แต่ว่ามันอาจจะไม่ได้ขนาดนั้น เราก็เลยพยายามลดให้เกิดจิตสำนึกเห็นพลาสติกหนึ่งชิ้น  เราจะต้องมองเห็นถึงขยะที่จะอยู่ยืนยาวไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน ก็เห็นทรัพยากรที่เราขุดมาจากใต้ดินมาใช้ คือ อยากจะเปลี่ยนแนวคิด ที่ไม่ได้เห็นว่าการใช้ถุงพลาสติกมันเป็นเรื่องสะดวกสบายอย่างเดียว  อยากให้เห็นว่าภาระที่เราได้ก่อและส่งผลกระทบต่อโลกมีอะไรบ้าง”


จึงเริ่มต้นจากเชิญชวนนิสิตจากหลายคณะ ผ่านทางเครือข่ายอาจารย์ในแต่ละคณะที่รู้จัก เพื่อเป็นตัวกลางในกระตุ้นให้นิสิตที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรียกว่า เป็นนิสิตกลุ่มนำร่องก็ว่าได้ จำนวนกว่า 60 คน  เข้าร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเอื้อให้นิสิตกลุ่มเป้าหมายและผู้สนใจ ได้รับรู้สถานการณ์การจัดการขยะและริเริ่มสร้างนวัตกรรมทางความคิด ได้แก่ การให้รับรู้ข้อมูลด้วยตาของตัวเอง โดยการพาไปดูกองขยะที่กองมหาศาล  กลับมาพัฒนาสื่อรณรงค์เชิงรุกให้สอดคล้องกับบริบทการรับรู้ของข้อมูลของสังคม  และการค้นหารูปแบบการลดขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะผลักดันให้เกิดการลดปริมาณขยะได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งให้เกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง การนำเอาบทเรียนของชุมชนที่ประสบความสำเร็จมาใช้ในการจัดการขยะ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเริ่มจากตนเองในการใช้ชีวิตประจำวัน และผลักดันสู่การจัดตั้งเป็นชมรม เพื่อขยายผลการดำเนินโครงการ ให้เกิดผลรับเชิงประจักษ์ในฐานะหน่วยงานที่จัดการเรียนและการสอนในด้านสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

 



สำหรับรูปแบบการรณรงค์ที่กลุ่มนิสิตนำร่องทำให้เห็นกัน อย่างเช่น  การนำกล่องอาหาร  กระบอกน้ำภาชนะไปที่ร้านค้า การใช้ถุงผ้า ย่ามหรือเป้  หลอดที่ใช้แล้วใช้ซ้ำได้ ผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้าที่มาจากชุมชน นำมาออกแบบ สำหรับการใช้งานอเนกประสงค์ สามารถดัดแปลงเป็นการใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้หลากหลาย (ตัวอย่างการนำไปซื้อผัก)

 

 


โดยหากมองในแง่ของการลดปริมาณขยะ  แน่นอนว่า การใช้ถุงผ้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สามารถช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้มาก เพราะขยะส่วนใหญ่ คือ ถุงพลาสติก และแก้วน้ำ พอได้มาทำตรงนี้เสร็จ ก็ไม่เพียงแค่ช่วยในเรื่องของการลดปริมาณขยะ  แต่ยังเป็นการช่วยชุมชนอีกทางด้วย เพราะว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ หากมีคนใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็แสดงถึงโอกาสที่ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มาจากชุมชนโดยตรง เราเป็นเพียงคนออกแบบผลิตภัณฑ์และสร้างช่องทางการตลาดผ่านตัวโครงการและกระจายสู่ชุมชน


หากพูดถึงผลตอบรับในปัจจุบัน พบว่า  พฤติกรรมจากการสังเกตโรงอาหารของมหาวิทยาลัย เห็นนิสิตมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพอสมควร เช่น ถือแก้ว ถือกล่องอาหารไปเอง ใช้ถุงผ้า  ตะกร้าไปตลาดก็เห็นมากขึ้น เขาก็เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเขาเอง  ส่วนนิสิตที่ได้เรียนเรื่องการจัดการขยะ ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลบนเฟซบุ๊กของโครงการ แสดงว่าตัวเอง มีวิธีลดขยะยังไงบ้าง โนพลาสติกวิธีไหน ก็จะเป็นการขยายและเขาจะไปชักชวนเพื่อน ๆ เขามาช่วยกันลดพลาสติกเหมือนกัน

 

 


โครงการ "No Plastic Campaign MSU" เป็นโครงการในมหาวิทยาลัยก็จริง แต่ความจริงแล้ว   ไม่ควรจะหยุดอยู่ในแค่มหาวิทยาลัย หากแต่เราทุกคน ต้องช่วยกันรณรงค์และทำให้คุ้นชินไปกับชีวิตประจำวัน โดยลดการใช้ภาชนะพลาสติกเท่าที่จะเป็นไปได้ และอยากให้มหาวิทยาลัย เป็นเช่นจุดเริ่มต้น ที่พร้อมจะขยายความร่วมมือ กระจายแนวคิด และการปฏิบัตินี้ออกไปสู่สังคม Astrud ได้กล่าวทิ้งท้าย


ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารหรือร่วมกิจกรรมได้ที่ แฟนเพจ https://www.facebook.com/NoPlasticCampaignMSU/

28 พฤศจิกายน 2560

ผู้ชม 1488 ครั้ง

Engine by shopup.com