28 มีนาคม 2567

ข่าวประกาศ

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2565 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับสมัครบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล รับสมัครบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565 กรมทางหลวง รับสมัครเข้ารับราชการ จำนวน 6 ตำแหน่ง สมัครตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 14 มีนาคม 2565 กรมสรรพสามิต รับสมัครบุคคล (คนพิการ) เป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565

ดูบทความการจัดการภาวะวิกฤตโรคระบาดในซีรี่ย์เรื่อง ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด (The Kingdom)

การจัดการภาวะวิกฤตโรคระบาดในซีรี่ย์เรื่อง ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด (The Kingdom)

 

 

ดูหนังดูละครแล้วย้อนมาดูตน สำนวนที่กระตุกเตือนให้หวนนึกถึงบทบาทของสื่อบันเทิงในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางปัญญา เนื่องด้วยการสื่อสารผ่านเรื่องราวที่ตัวละครโลดแล่นอยู่นั้น แม้ฉากหน้าอาจฉาบทาความหรรษาเพื่อมอบความบันเทิง แต่ยังมีฉากหลังที่เป็นดังกระจกสะท้อนปัญหา ตีแผ่ให้เห็นเงื่อนปมความขัดแย้งและหนทางคลี่คลายวิกฤตต่าง ๆ ที่สอดแทรกมาพร้อมกันด้วย สื่อบันเทิงจึงเป็นเสมือนสนามจำลองที่สร้างประสบการณ์ให้ผู้ชมได้ขบคิดเพื่อเข้าใจปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ

 

 

ซีรี่ย์เรื่อง ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด เป็น Original content ของ Netflix  ที่ได้รับการกล่าวขวัญในวงกว้างถึงความสนุก ตื่นเต้น ลุ้นระทึก ตามแบบฉบับซีรี่ย์ตระกูลซอมบี้ ออกอากาศแบบ Streaming มาแล้ว 2 ซีซั่น เนื้อเรื่องบอกเล่าถึงชะตากรรมขององค์รัชทายาทอีชาง แห่งอาณาจักรโชซ็อนของเกาหลีที่ต้องเผชิญปัญหาการเมืองเรื่องการสืบทอดราชบัลลังก์ และปมปัญหาปริศนาโรคระบาดที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นซอมบี้ นับตั้งแต่ซีซั่นแรกจนถึงซีซั่นที่สอง อีชางยังคงต้องพบกับปัญหาผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างไปทั่วราชอาณาจักร เมื่อได้ชมเรื่องราวจากทั้ง 2 ซีซั่นก็อดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า ปัจจัยใดที่ทำให้การบริหารราชการในภาวะฉุกเฉินของโชช็อนนั้น ไม่อาจหยุดยั้งการแพร่กระจายเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ   

 

เมื่อพิจารณาแล้วก็ได้พบว่า ปัญหาสำคัญที่องค์รัชทายาทต้องเผชิญในการจัดการภาวะวิกฤตนั้นคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง อันเป็นระบบราชการของโชช็อนที่เทอะทะ เต็มไปด้วยลำดับชั้นในการทำงาน ขาดการกระจายอำนาจ จนไม่อาจทำให้หน่วยงานท้องถิ่นอย่างเมืองทงเร สามารถจัดการกับปัญหาที่ตนประสบอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นเหตุให้เกิด Super spreader จากเมืองนี้ นอกจากนี้ภายในระบบบริหารราชการแผ่นดินของโชช็อนที่นำโดยอัครมหาเสนาบดีโจฮักจูก็ยังฟอนเฟะเต็มไปด้วยข้าราชการที่ฉ้อฉล  

 

การบริหารจัดการภาวะวิกฤตโรคระบาดที่ดูจะล้มเหลวในซีรี่ย์ จนเป็นเหตุให้เกิดผู้ติดเชื้อมากมายนั้นได้เริ่มแพร่กระจายเชื้ออย่างเด่นชัดที่เมืองทงเร จากนั้นแพร่กระจายเชื้อไปถึงเมืองซังจูจากการเคลื่อนย้ายของผู้คนเพื่อหนีตายในซีซั่นแรก และยังลุกลามไปถึงเมืองหลวงฮันยางในซีซั่นที่สอง อาจสรุปสาเหตุความล้มเหลวในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อในซีรี่ย์นี้ ได้โดยสังเขป 3 ประการ ดังนี้

 

(1) ขาดระบบการผสานและส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญมีบทบาทนำ ในการค้นคว้าหาสาเหตุของโรคเพื่อแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหานั้น อีชางมุ่งจะหาคำตอบของปัญหาด้วยตนเองโดยอาศัยกองกำลังทหารของเขาเป็นทัพหน้าในการเข้าปะทะกับปัญหาโรคระบาด โดยละเลยการส่งเสริมและสนับสนุนสิ่งจำเป็นให้กับ “ซอบี” หมอหญิงผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดมากที่สุด จนทำให้เธอต้องผจญกับอันตรายต่าง ๆ นานา เพื่อหาทางรักษาโรคด้วยตนเองจนเกือบตายก็หลายครั้ง  ในขณะที่อีชางและเหล่าทหารของเขากลับทุมเทเวลาส่วนใหญ่ไปกับการไขปัญหาทางการเมือง และพยายามใช้กองกำลังที่มีเข้าควบคุมสถานการณ์ซึ่งก็ไม่เป็นผล ถึงแม้ท้ายที่สุดหมอหญิงซอบีจะค้นพบที่มาของโรคระบาดได้ แต่นั้นก็ด้วยความพากเพียรของเธอเองเป็นสำคัญ หาใช่การได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากอีชางซึ่งเป็นผู้นำในขณะนั้นไม่ ทั้งนี้หากหมอหญิงได้รับการส่งเสริมตั้งแต่ซีซั่นแรก เธออาจได้คำตอบถึงวิธีการหยุดยั้งโรคร้ายได้รวดเร็วกว่านี้ก็เป็นได้

 

(2) ขาดระบบการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่มีประสิทธิภาพ ในซีรี่ย์เราแทบไม่เห็นอีชาง หรือ อัครมหาเสนาบดีโจฮักจูกำหนดวิธีการหรือแนวทางการสื่อสารเพื่อให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคระบาดเลย ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดส่วนใหญ่ไหลเวียนอยู่แต่เพียงกลุ่มทหารของพวกเขาเท่านั้น เป็นผลให้ทีมงานของอีชางและโจฮักจู ผู้เข้าถึงทรัพยากรและความรู้ในการป้องกันตนเองส่วนใหญ่สามารถรอดพ้นการเป็นซอมบี้ได้จนถึงซีซั่นสอง ในขณะที่ประชาชนผู้ขาดซึ่งข้อมูลในการเฝ้าระวังและป้องกันตนเองต้องตกเป็นเป้านิ่งของโรคระบาด จนสุดท้ายต้องกลายร่างเป็นผู้ติดเชื้อกันยกเมือง      

 

(3) การใช้มาตรการจัดการภาวะวิกฤตที่ไม่เหมาะสม จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคที่ยากจะหยุดยั้ง แทนที่โจฮักจูในฐานะอัครมหาเสนาบดีจะตั้งศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เขากลับก็ฉวยโอกาสอ้างโรคระบาดสั่งกองทัพ Lockdown เมือง หวังให้รัชทายาทติดเชื้อตายที่นอกด่านขจัดเสี้ยนหนามทางการเมือง แต่ผลลัพธ์กลับยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์โดยรวมเลวร้ายลง จากการขาดมาตรการที่เด่นชัดทำให้ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้รอดชีวิตก็อาจอดตายจากการขาดเสบียงที่เพียงพอ   

 

บทเรียนเรื่องการบริหารจัดการภาวะวิกฤตจากซีรี่ย์เรื่องนี้ กำลังชี้ให้เราตระหนักว่า หากผู้นำละเลยที่จะมองปัญหาให้รอบด้าน มุ่งหมายแต่จะเลือกแก้ปัญหาของตนเพียงเพื่อให้ตนยังคงมีที่หยัดยืนอยู่ในช่วงชั้นบนสุดของสังคม และปล่อยให้ผู้คนมากหน้าหลายตาฉกฉวยเอาวิกฤตเป็นโอกาสในการกอบโกยผลประโยชน์จากความทุกข์ร้อนของประชาชน เช่นนี้แล้วก็ยากจากคลี่คลายวิกฤตให้ลุล่วงได้

 

ถึงแม้ซีซั่นสองจะปิดฉากลงด้วยสถานการณ์การติดเชื้อและแพร่กระจายโรคระบาดที่คลี่คลายลงแล้ว แต่ยังมีสิ่งที่อีชางและบรรดากลุ่มอำนาจใหม่ของอาณาจักรโชซ็อน ควรดำเนินการต่อไป เพื่อเตรียมรับมือกับการกลับมาระบาดของโรคอีกครั้งในซีซั่นถัดไป คือ   

 

  • จัดทำแผนรับมือภาวะวิกฤตที่ครอบคลุมตั้งแต่ ก่อนเกิดภาวะวิกฤต ระหว่างเกิดวิกฤต และหลังเกิดวิกฤตให้ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันและบรรเทาความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
  • การให้ความสำคัญกับการวางระบบการสื่อสารในภาวะวิกฤต ด้วยเพราะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนั้นจะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภาวะวิกฤตได้เป็นอย่างดี
  • การเลือกกำหนดแนวทางการใช้มาตรการและเครื่องมือในการจัดการภาวะวิกฤตในแต่ละระยะอย่างเหมาะสม
  • การกำหนดแผนซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อทบทวนแผนการจัดการภาวะวิกฤตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้บรรดาขุนนางผู้รับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ตระหนักถึงความสำคัญของแผนการจัดการภาวะวิกฤต

 

เมื่อโดนโจมตีจากปัญหาสารพัดรอบด้านในภาวะวิกฤต จนเกินกำลังที่จะฝากให้ใครผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้รับมือกับสถานการณ์ไว้แต่เพียงผู้เดียวได้ ผู้นำควรละวางปัญหาส่วนตน และน้อมกายให้เป็นชุมทางแห่งความร่วมมือจากทั่วสาระทิศ มุ่งบริหารเพื่อวางระบบเปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาสามารถเข้ามาช่วยรับมือกับปัญหาในแต่ละด้านอย่างใกล้ชิด และเป็นไปในทิศทางเดียว เพราะพระเอกหรือตัวร้ายในละครตอนวิกฤตอาจไม่ใช่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากแต่เป็นระบบและกลไกที่ใช้รองรับปัญหาเหล่านั้น ซึ่งระบบที่บิดเบี้ยวก็อาจกลายเป็นฉนวนเหตุของวิกฤต ในขณะเดียวกันระบบที่มีประสิทธิภาพก็อาจเป็นกุญแจไขไปสู่ทางออก ช่วยลดความรุนแรงและผลกระทบจากภาวะวิกฤตได้เช่นกัน

 

เรียบเรียงโดย: ผศ.ดร.พิทักษ์ ชูมงคล

อาจารย์สาขาวิชาสื่อสารการตลาดดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต

 

#มอรังสิต

#สมัครด่วน

#การจัดการภาวะวิกฤตโรคระบาดในซีรี่ย์

#ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด (The Kingdom)

 

09 เมษายน 2563

ผู้ชม 706 ครั้ง

Engine by shopup.com