พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ ประจำปีการศึกษา 2561 ระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (Bachelor of Technology) อักษรย่อ ทล.บ. จำนวน 3,265 คน จากสถาบันการอาชีวศึกษา 23 แห่ง สถานศึกษา 202 แห่ง ในวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ให้พระราโชวาทแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 จากสถาบันการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ความว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมต่อบัณฑิตทุกคนที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ
สถาบันการอาชีวศึกษา เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี ซึ่งมุ่งเน้นให้บัณฑิตได้ประกอบอาชีพการงานเป็นบุคลากรในสายปฏิบัติการ บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษา จึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติพร้อมใน 3 ด้าน ด้านหนึ่ง ได้แก่ ความรู้ความสามารถ คือมีความรู้ในทฤษฎีและเทคโนโลยีเฉพาะทางอย่างเป็นระบบ ทั้งสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับงานแต่ละอย่างแต่ละกรณีได้ อีกด้านหนึ่ง ได้แก่ ทักษะความชำนาญ อันสร้างสมขึ้นจากการฝึกหัดปฏิบัติอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการคิดวิเคราะห์หรือทักษะในวิชาชีพที่ได้เล่าเรียนมา อีกด้านหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด ได้แก่ คุณธรรม อันเป็นเครื่องประคับประคองคุ้มกันให้แต่ละคนนำความรู้ความสามารถและทักษะความชำนาญที่มีอยู่ไปใช้ปฏิบัติการทุกอย่างให้บังเกิดผลเป็นประโยชน์แท้ ไม่เป็นโทษเป็นภัยทั้งแก่ตนเองและส่วนรวม หากบัณฑิตทุกคนหมั่นสร้างสมอบรมคุณสมบัติทั้ง 3 ด้านให้ถึงพร้อม และให้เพิ่มพูนขึ้นอยู่เสมอแล้ว แต่ละคนก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าทั้งของหน่วยงานและของชาติ เป็นผู้สามารถสร้างสรรค์ความดีความเจริญให้แก่ตนเองและชาติบ้านเมือง สมกับที่ได้สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตอย่างเต็มภาคภูมิในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคนและทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ มีความเจริญมั่นคงในชีวิตและกิจการงาน สมตามปณิธานปรารถนาจงทั่วกัน”
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า พิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 ของสถาบันการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ในระบบทวิภาคี มีรูปแบบการเรียนร่วมกับสถานประกอบการชั้นนำที่ได้มาตรฐาน โดยใช้หลักสูตรที่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป นั่นคือ หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (Bachelor of Technology) อักษรย่อ ทล.บ. ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ มีสมรรถนะ ด้านการปฺฏิบัติและพัฒนางานในระดับเทคโนโลยี สามารถปฏิบัติงาน และเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานได้ หรือประกอบอาชีพอิสระ และพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรมในการประกอบอาชีพ และมีจิตอาสาช่วยเหลือสังคม โดยมีบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน 3,265 คน จากการศึกษาใน 8 ประเภทวิชา ได้แก่ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริหารธุรกิจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ศิลปกรรม คหกรรม เกษตรกรรม และประมง ซึ่งประกอบด้วย 25 สาขาวิชา ได้แก่ เทคโนโลยีไฟฟ้า เทคโนโลยีแม่พิมพ์ เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยียาง เทคโนโลยีสถาปัตยกรรม เทคโนโลยีการก่อสร้าง เทคโนโลยีเครื่องกลเรือ เทคโนโลยีสารสนเทศ การบัญชี การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การจัดการสำนักงาน การจัดการโลจิสติกส์ ดิจิตอลกราฟิก ออกแบบผลิตภัณฑ์ ช่างทองหลวง เทคโนโลยีอาหารและโภชนาการ การจัดการงานคหกรรม เทคโนโลยีการผลิตพืช เทคโนโลยีการผลิตสัตว์ เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เทคโนโลยีแปรรูปสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว และการโรงแรม
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า จากสถิติการมีงานทำของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (Bachelor of Technology) พบว่า ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2557 - 2559 จำนวน 3,573 คน มีงานทำ 100 % ปีการศึกษา 2560 จำนวน 3,229 คน มีงานทำ 98 % ส่วนปีการศึกษา 2561 อยู่ในระหว่างการสำรวจ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน เหตุที่มีสถิติของภาวการณ์มีงานทำอยู่ในอัตราที่สูงมาก เนื่องจากผู้เรียนกำลังปฏิบัติงานหรือทดลองงานอยู่ในหน่วยงานหรือสถานประกอบการนั้น ๆ โดยร่วมกันจัดการศึกษาระบบทวิภาคี เน้นการผลิตบัณฑิตสายปฏิบัติการที่ตรงตามความต้องการของหน่วยงาน และสถานประกอบการ เมื่อจบการศึกษาทำให้มีสมรรถนะวิชาชีพระดับสูงขึ้น มีความรู้ ทักษะฝีมือ และความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติ ส่งผลให้มีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน และยกระดับการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมในยุคไทยแลนด์ 4.0
13 สิงหาคม 2562
ผู้ชม 596 ครั้ง