หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความสำคัญภารกิจกระทรวงแรงงานมีความมุ่งหวังให้ความคุ้มครองผู้ใช้แรงงานตามแนวคิดยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๑ – ๒๕๘๐) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม และแผนแม่บทพัฒนาแรงงานไทยในระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) ในประเด็นยุทธศาสตร์การคุ้มครองและเสริมสร้างความมั่นคง หลักประกันในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจากผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคมที่ให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ เดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทุกมาตราคือ 33, 39, 40 ทั้งหมด 16,545,725 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2562 ถึง 114,283 คน จากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นที่น่ายินดีที่สถานประกอบการ และผู้ใช้แรงงาน เห็นความสำคัญเกี่ยวกับสวัสดิการในระบบความคุ้มครองทุกภาคส่วนของกระทรวงแรงงาน
ด้านนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลตัวเลขที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว คิดแยกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 (ลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป) มีจำนวน 11,694,184 คน เพิ่มขึ้นถึง 71,917 คน ผู้ประกันตนภาคสมัครใจมาตรา 39 (ผู้ประกันตนที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือนนับแต่วันที่ลาออกจากงาน) มีจำนวน 1,644,488 คน เพิ่มขึ้น 2,985 คน และแรงงานภาคอิสระหรือบุคคลทั่วไปสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 3,207,053 คน เพิ่มขึ้น 39,381 คน สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน ในการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อให้คลอบคลุมทุกมิติให้กับประชาชน ผู้ใช้แรงงาน ได้รับประโยชน์สูงสุด เป็นที่พึ่ง อย่างแท้จริงต่อไป
14 ธันวาคม 2562
ผู้ชม 1031 ครั้ง