มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำนวัตกรรมงานวิจัย ไปพัฒนาและยกระดับสินค้าของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม กับผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ท้องถิ่นจากเส้นใยต้นหน่อกะลา พื้นที่เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
หน่อกะลาเป็นพืชในกลุ่มของ ขิง ข่า เป็นพืชเชิงเดี่ยวและเจริญได้ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมถึง แสงแดดส่อง พบทั่วไปในดินเลนท้องร่องสวนและที่มีน้ำเฉอะแฉะบนพื้นที่เกาะเกร็ด หน่อกะลาเป็นพืชท้องถิ่นของชุมชนเกาะเกร็ด ส่วนใหญ่นิยมนำหน่อกะลามารับประทานในรูปแบบผักสด ต้มกะทิ จิ้มน้ำพริก เนื่องจากหน่อกะลาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยขับลม
จากการสำรวจเชิงพื้นที่เกาะเกร็ด ของทีมนักวิจัย มทร.สุวรรณภูมิ โดยมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการปลูกกับเกษตรกรชุมชนเกาะเกร็ด เพื่อสร้างกระบวนการทำงานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อกะลา รวมทั้งส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าเกิดมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งได้ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์จากวัสดุเหลือทิ้งให้กับชุมชน
ดร.สุธิษา เละเซ็น อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทีมนักวิจัยของ มทร.สุวรรณภูมิ ได้นำหน่อกะลาไปอบแห้งเพื่อนำมาวิเคราะห์สารสกัด พบว่ามีสีและกลิ่นที่เข้มขึ้น จากการทดลองวัดเปรียบเทียบปริมาณสารประกอบฟีนอลิก (phenolic) จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติในพืช สารประกอบฟีนอลิกรวมในหน่อกะลาอบแห้ง จะสูงกว่าต้นสดประมาณ 6 เท่า นอกจากนี้ทีมนักวิจัยยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์จากหน่อกะลา โดยการนำวัสดุเหลือใช้จากหน่อกะลา ได้แก่ ใบของหน่อกะลา มาเพิ่มคุณค่าให้เกิดมูลค่าเพิ่มสามารถลดปริมาณการใช้พลาสติกได้ด้วย เนื่องจากกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยีแล้วได้นำไปบรรจุสินค้าจำหน่ายในร้านชา เกาะ เป็นร้านค้าของกลุ่มวิสาหกิจสมุนไพรหน่อกะลา หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะเกร็ด เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน
ด้าน นายวัฒนะ งามอารีย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจสมุนไพรหน่อกะลาเกาะเกร็ด เกษตรกรผู้ปลูกหน่อกะลา กล่าวว่า หน่อกะลาเป็นพืชประจำถิ่นของชาวเกาะเกร็ด ที่มีการปลูกแทบทุกครัวเรือน ชาวเกาะเกร็ดนิยมนำหน่อกะลามาประกอบอาหาร โดยนำหน่ออ่อนมารับประทานสด ต้มจิ้มน้ำพริก ใช้แทนข่าสำหรับต้มยำ แกงส้ม ส่วนการค้าในอดีตมีการจำหน่ายแบบสด 2 รูปแบบ คือ 1.) ขายส่งร้านอาหารในพื้นที่และนอกพื้นที่ 2.) ขายปลีกหน้าร้านของตัวเอง และหาบเร่ขายตามตลาด ต่อมาทีมนักวิจัย มทร.สุวรรณภูมิ และหน่วยงานอื่น ๆได้เข้ามาพัฒนาส่งเสริมโดยการนำนวัตกรรมงานวิจัยมาพัฒนายกระดับศักยภาพการปลูกรวมถึงการแปรรูป การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากหน่อกะลา ให้กับชุมชนเกาะเกร็ด ทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อกะลาให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่างพากันนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับมาพัฒนาต้นหน่อกะลาในพื้นที่ของตนให้สามารถขายได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งสร้างจุดขายที่แตกต่าง สิ่งที่ตนและเกษตรกร คนอื่น ๆ ประทับใจเป็นอย่างมากคือ การใช้วัสดุเหลือใช้ของหน่อกะลามาแปรรูปให้เป็นวัสดุที่ใช้แล้วย่อยสลายได้สามารถใช้ทดแทนวัสดุจำพวกพลาสติกได้เป็นส่วนช่วยในการลดโลกร้อนไปในตัวได้อีก
13 มีนาคม 2563
ผู้ชม 1531 ครั้ง