สารจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ 8 กันยายน 2563
ว่า ปัจจุบันนานาประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งรวมถึงประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และการศึกษา อีกทั้งวิถีการดำเนินชีวิตของพลเมืองในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือเป็นช่วงเวลาที่ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปประเทศเข้าสู่แนวคิดฐานวิถีชีวิตใหม่ อันรวมไปถึงการปฏิรูปด้านการศึกษาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ดังนั้น บุคลากรทางการศึกษา จึงควรมีทักษะที่จำเป็นในการสร้างสรรค์สื่อและช่องทางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้สามารถเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้บกพร่องทางกายและการเรียนรู้ ตลอดจนชนกลุ่มน้อยได้อย่างทั่วถึง เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือให้แก่คนในสังคม ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญอันจะนำไปสู่การเรียนตลอดชีวิต และยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของตนเองต่อไป
นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ด้วยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Education, Scientific and Cultural Organization) หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปีเป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” (International Literacy Day: ILD) และเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญดังกล่าว ซึ่ง กศน. คือ หน่วยงานหลักในการจัดการศึกษา ได้ดำเนินการแก้ปัญหาการไม่รู้หนังสือของคนไทยมาโดยตลอด โดยเฉพาะประชากรชายขอบ ชาวเขา และประชากรบางส่วนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ภาษายาวี เป็นต้น เพื่อให้คนเหล่านั้นรู้หนังสือ สามารถอ่านออก เขียนได้ และมีการพัฒนาการจัดระบบการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชน ตลอดจนประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมกันแก้ไข
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ ยูเนสโก ได้กำหนดประเด็นหลัก “การรู้หนังสือในช่วงวิกฤตและหลังวิกฤต COVID-19 : บทบาทของนักการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงศาสตร์ด้านการสอน” (Literacy teaching and learning in the COVID-19 crisis and beyond: the Role of Educators and Changing Pedagogies) เนื่องจากปัจจุบันสังคมโลกอยู่ในภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ทำให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป ในมิติของโลกแห่งการเรียนรู้ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการอ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น หรือ “การรู้หนังสือ”และ“การพึ่งพาตนเองได้” ย่อมไม่เป็น การเพียงพออีกต่อไป การรู้เรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งเป็นอาวุธที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะสามารถชะลอการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้ และเป็นการเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันของทุกคนในสังคม การเอื้ออาทรต่อกัน การรู้หนังสือในช่วงการแพร่ระบาดและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเป็นการรู้หนังสือเพื่อการอยู่รอดตามวิถีชีวิตใหม่ที่เป็นการเลือกสรรของสังคมที่เป็นไปเพื่อ “การอยู่รอดร่วมกันอย่างสันติสุขและความเข้มแข็งที่ยั่งยืนของสังคมไทย”
นายณัฐพงษ์ นวลมาก รองเลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ในวันนี้ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 เป็นต้นมา การจัดงานเฉลิมฉลอง “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”ประจำปี 2563 ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงาน กศน. ได้กำหนดให้มีการจัดงาน ณ หอประชุมคุรุสภาแห่งนี้ โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้อำนวยการสานักงานยูเนสโก กรุงเทพฯและคณะ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้บริหารและบุคลากรของสานักงาน กศน. ภาคีเครือข่าย และผู้เข้ารับรางวัลประกาศเกียรติคุณ กศน. ประจำปี 2563 รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 370 คน เพื่อเป็นการเชิดชูและเป็นเกียรติประวัติแก่คน กศน. ต่อไป
#กศน #ยูเนสโก #พิธีเฉลิมฉลอง #วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ #สมัครด่วน
08 กันยายน 2563
ผู้ชม 1792 ครั้ง