ปัจจุบันอาชีพทำนาของเกษตรกรประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงรายได้ต่ำประกอบกับเกษตรกรประสบปัญหาจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง อุทกภัย ส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางอาชีพและรายได้ในการทำนา เกษตรกรรุ่นใหม่ขาดความต่อเนื่องในการสืบทอดอาชีพทำนา ทำให้มีความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินทำกิน
การนำองค์ความรู้เทคโนโลยีเกษตรแบบผสมผสานเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และมีแหล่งอาหารในชุมชน จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพ ให้มีรายได้เพิ่มจากการเกษตรหลายอย่าง มีความปลอดภัยทางด้านอาหาร เพื่อให้เกษตรกรผู้ทำนา มีความต่อเนื่องในการสืบทอดอาชีพทำนา มีการประยุกต์อาชีพการทำนาให้ทันสมัย
จากปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) จึงไม่หยุดนิ่งที่จะนำผลงานวิจัยรวมทั้งเทคโนโลยีต่าง ๆ ในรูปแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงไปส่งเสริมพัฒนาแก้ไขปัญหาอันนำไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและเพิ่มศักยภาพงานวิจัย โดยนำผลการวิจัยมาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ชุมชน สังคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพงษ์ สุขเกื้อ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ตนและทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจศึกษาข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยการคัดเลือกพื้นที่ของเกษตรกรในอำเภอเสนาที่จะใช้ในการศึกษาวิจัย พัฒนาพื้นที่เป้าหมายปรับสภาพพื้นที่นาข้าวให้เป็นแปลงการเกษตรแบบผสมผสาน จากการวิเคราะห์ปัจจัยในการผลิตข้าว ในพื้นที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าเกษตรกรยังมีความเชื่อในวิธีการเดิม ๆ ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง การบริหารระบบชลประทานของเกษตรกรยังไม่ดีพอ พื้นที่ลุ่มต่ำ เกิดน้ำท่วมง่าย เกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวด้อยคุณภาพ การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและองค์ความรู้ในการเพิ่มผลผลิตการทำนาด้วยเทคโนโลยีเกษตรแบบผสมผสานเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และชุมชน เปลี่ยนการทำนาอย่างเดียวเป็นโมเดลการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรแบบผสมผสานบริเวณพื้นที่รับน้ำ โดยพัฒนาสภาพของพื้นที่ ทำนา เลี้ยงปลา ปลูกพืช สร้างโรงเก็บวัสดุและอุปกรณ์ ติดตั้งระบบน้ำเพื่อการเกษตรเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นสถานที่ในการศึกษาดูงานแก่ผู้ที่สนใจการใช้ประโยชน์จากทุ่งรับน้ำเพื่อการเกษตรแบบผสมผสานในอนาคต
29 ตุลาคม 2563
ผู้ชม 588 ครั้ง