เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และได้ประชุมติดตามผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีของกระทรวงแรงงานผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อวานนี้ (18 ส.ค.64) นั้น ท่าน พล.อ.ประวิตร ได้มีข้อห่วงใยต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และได้สั่งการให้กระทรวงแรงงาน เร่งกระจายวัคซีนในแรงงานกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ให้การฉีดวัคซีนโควิด -19 เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมดูแลผู้ใช้แรงงานให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกมิติ โดย พล.อ.ประวิตร ยังได้เน้นย้ำการทำงานในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ 1) การบริหารวัคซีน ให้เร่งดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มแรงงานให้ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่สีแดงเข้ม สำหรับศูนย์ฉีดวัคซีนแคมป์คนงาน ขอให้เร่งดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนด 2) มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ทั้งนายจ้าง ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 ขอให้ดำเนินการตามกำหนดระยะเวลา เพื่อช่วยให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว 3) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มแรงงาน ป้องกัน ดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด -19 รวมทั้งบุคลากรของกระทรวงแรงงาน 4) โครงการ Factory Sandbox ให้บริหารจัดการอย่างครบวงจรโดยสำรวจความสมัครใจของสถานประกอบการ ตรวจคัดกรองให้ครอบคลุม หากพบผู้ติดเชื้อให้เร่งดูแลและช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีตามมาตรการด้านสาธารณสุข 5) แรงงานต่างด้าว ให้กำกับ ดูแล บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 6) ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและองค์การระหว่างประเทศ และต้องกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยเด็ดขาด หากพบมีพฤติการณ์ให้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งทางวินัยและอาญาทุกราย 7) ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยเน้นหลักสูตรในการพัฒนาทักษะดิจิทัล เช่น การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น
“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งขับเคลื่อนมาตรการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานในทุกมิติ เร่งช่วยเหลือทั้งนายจ้าง และผู้ประกันตน ม.33 ,39 และ 40 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมทั่วถึง รวมทั้งขอให้มีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว และเน้นย้ำป้องกันการค้ามนุษย์โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้ก้าวข้ามสถานการณ์ในครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด
20 สิงหาคม 2564
ผู้ชม 361 ครั้ง