ดร.สุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการ กศน. ได้มอบหมาย ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ รองเลขาธิการ กศน. เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแนวทางการดำเนินงาน อาสาสมัคร กศน. (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565) โดยมีนางวัชรีภรณ์ โกสินเจริญชัย ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาเครือข่ายและผู้บริหาร กศน. ทั้งระดับภาค จังหวัด สถานศึกษา และศึกษานิเทศก์ ร่วมจัดทำแนวทางการดำเนินงาน อาสาสมัคร กศน. (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565) ในครั้งนี้
การจัดทำแนวทางการดำเนินงาน อาสาสมัคร กศน. (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อาสาสมัคร กศน. และผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงนโยบายและภารกิจต่าง ๆ ที่สำนักงาน กศน. ได้รับมอบหมาย หน่วยงาน/สถานศึกษาสามารถวางแผน กำหนดกรอบแนวทางการจัดกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ ซึ่งอาสาสมัคร กศน. จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริม สนับสนุนภารกิจงานต่าง ๆ ของ กศน. ตำบล/แขวง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิตได้อย่างทั่วถึงและแท้จริง อันเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านการศึกษา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา
ทั้งนี้ ดร.ภูมิพัทธ เรืองแหล่ รองเลขาธิการ กศน.ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัคร กศน. ว่า “ให้อาสาสมัคร กศน.ร่วมสำรวจกลุ่มเป้าหมายประชากรวัยเรียนนอกระบบและประชาชนทั่วไป ที่ด้อยโอกาส พลาดโอกาส และขาดโอกาสทางการศึกษา เช่น เด็กตกหล่น เด็กเร่รอน กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อย ผู้พิการที่มี ความประสงค์อยากเรียน เป็นต้น พร้อมส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาตลอดชีวิตให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง อันเป็นการยกระดับ กศน.ตำบล/แขวง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ตามวิสัยทัศน์ “กศน.ก้าวใหม่ ก้าวแห่งคุณภาพ” ภายใต้การนำของเลขาธิการ กศน. (ดร.สุรศักดิ์ อินศรีไกร)”
ดร.วัชรีวรรณ กันเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย ได้นำเสนอร่างเอกสาร แนวทางการดำเนินงาน อาสาสมัคร กศน. (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565) ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ (1) ความเป็นมาและความสำคัญของอาสาสมัคร กศน. (2) บทบาทของหน่วย/สถานศึกษา กศน. (3) การดำเนินงานของอาสาสมัคร กศน. (4) สิทธิประโยชน์ จรรยาบรรณของอาสาสมัคร กศน. ทั้งนี้ เมื่อจัดทำแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว เรียบร้อยแล้ว สำนักงาน กศน. ได้กำหนดแผนการรับสมัครอาสาสมัคร กศน. ในห้วงเดือน พฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 กำหนดเป้าหมายเบื้องต้น กศน. ตำบล/แขวงละ 3 คน อาสาสมัคร กศน. จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตลอดชีวิตในชุมชนให้กับกลุ่มเป้าหมายประชากรวัยเรียนนอกระบบและประชาชนทั่วไป ที่ด้อยโอกาส พลาดโอกาส และขาดโอกาสทางการศึกษาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
27 ตุลาคม 2564
ผู้ชม 646 ครั้ง