เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานและรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ถนนมหาราช ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยนายสุชาติ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการจากผลกระทบโควิด-19 เนื่องจากที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานต้องออกจากตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเป็นจำนวนมาก ภายหลังมีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไปนั้น
ในโอกาสที่ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรีในวันนี้ จึงมารับฟังปัญหาข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณี ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับ 3 รองจากอุตสาหกรรมรถยนต์และคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออกมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี มีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 1 ล้านคน มีสัดส่วนจีดีพีถึงร้อยละ 8 ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการ SMEs กระจายตัวอยู่ทั้งในจังหวัดจันทบุรีและทั่วประเทศ และเป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรี จึงมีนโยบายจากรัฐบาลให้จังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณี เป็นฐานการผลิตและแปรรูปสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความจำเป็นต้องอาศัยแรงงานและเทคโนโลยี นวัตกรรม เข้ามาช่วยส่งเสริมเป็นอย่างมาก ทั้งด้านการเจียระไน เผาพลอย การออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ การขึ้นตัวเรือน การฝังอัญมณี การชุบ การขัดชิ้นงานของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้จังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางการค้า การผลิตการแปรรูปที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของประเทศ
ทั้งนี้ มีนายโฆษิต รินทรานุรักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อขอความสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดในเรื่องเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรที่ทันสมัยในการศึกษาและฝึกอบรมทักษะฝีมือให้กับกลุ่มแรงงานฝีมือด้านอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะเครื่องเจียระไนพลอย ซึ่งปัจจุบันเครื่องจักรที่ใช้อบรมล้าสมัยไม่สามารถต่อยอดการเจียระไนพลอยเพื่อการส่งออกและประกอบเป็นเครื่องประดับได้ตามสถานการณ์ อีกทั้งยังทำให้ไม่สามารถนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานฝีมือที่กำลังขาดแคลนในปัจจุบันได้ รวมทั้งให้ส่งเสริมการอบรมช่างฝีมือเพื่อ up- skill /re -skill
ด้านการเจียระไนพลอยและการออกแบบ การทำเครื่องประดับทุกสาขา ผู้ควบคุมเครื่องจักรและมาตรฐาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับโดยหน่วยงานพัฒนาฝีมือแรงงาน
ด้าน นายบรรหาร อุดมผล อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมมาอาชีพช่างเจียระไนพลอยจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยและช่างที่มีฝีมือซึ่งปัจจุบันค่อยข้างขาดแคลน ส่วนการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีคิดว่าจะมีลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก
จากนั้น รมว.แรงงาน และคณะได้เดินทางไปยังโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เพื่อมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกันตนในโรงพยาบาล พร้อมทั้งเดินทางไปยังหมู่ 5 ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เพื่อมอบสุขาลอยน้ำและถุงยังชีพให้แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดจันทบุรี มีผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 372,907 คน ผู้มีงานทำ 369,862 คน ผู้ว่างงาน 2,894 คน มีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน 44,265 คน มีสถานประกอบการ 3,689 แห่ง ผู้ประกันตนสัญชาติไทย 31,034 ราย สัญชาติอื่น ๆ 4,241 ราย มีอาสาสมัครแรงงานจังหวัดจันทบุรี 76 คน การให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนจากผลกระทบโควิด-19 มีผู้ประกันตนได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 6,310 ราย จ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 แก่สถานประกอบการ 306 แห่ง ผู้ประกันตน 2,143 คน เป็นเงิน 15,969,524.15 ล้านบาท
27 ตุลาคม 2564
ผู้ชม 330 ครั้ง