รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยถึงเรื่อง ความพร้อมการเปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) เริ่มคลี่คลายดีขึ้น มหาวิทยาลัยได้กำหนดวิธีปฏิบัติเพื่อสามารถดำเนินการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ โดยมีแผนการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) มหาวิทยาลัยบูรพา ประกอบด้วย 4 ข้อหลักๆ ด้วยกัน คือ การจัดการเรียนการสอน การจัดหาและการดำเนินการฉีดวัคซีน การป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) (Prevention) และมาตราการการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)
การจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้ นิสิตชั้นปีที่ 1 จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็น และนิสิตชั้นปีที่ 2 ถึง 4 และบัณฑิตศึกษา ให้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสานระหว่างจัดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยบูรพา และออนไลน์ โดยจัดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยบูรพา ตามความจำเป็น เช่น รายวิชาปฏิบัติการหรือการฝึกปฏิบัติ กรณีที่มีจัดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ส่วนงานจัดตารางสอนโดยลดความแออัดในระหว่างการเดินทางไปยังห้องเรียน อาจกำหนดให้มีการเหลื่อมเวลาการเข้าเรียนในแต่ละวิชาในอาคารเรียนเดียวกัน และนอกเหนือจากที่กำหนด (Issues) กรณีที่มีความจำเป็นในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหรือลักษณะที่แตกต่างไป จากที่กำหนด ให้ส่วนงานเสนอเหตุและความจำเป็นต่อรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการในการพิจารณาอนุมัติ เป็นกรณีไป
สำหรับในส่วนของการจัดหาและการดำเนินการฉีดวัคซีน โดยนิสิตจะได้รับการฉีดวัคซีนใน วันที่10 -11 และวันที่ 15 ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 08.30 – 15.30 น. ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ทั้งนี้ นิสิตที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม มีจำนวน 6,190 คน (ประมาณร้อยละ 20) ได้รับวัคซีน 2 เข็ม จำนวน 3,175 คน (ประมาณร้อยละ 10) และได้รับวัคซีน 3 เข็ม จำนวน 490 คน และรอรับการฉีดวัคซีน จำนวน 6,599 คน (ประมาณร้อยละ 30) ในส่วนของบุคลากร ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มขึ้นไป จำนวน 100 เปอร์เซ็น อีกทั้ง การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแม่บ้าน/พนักงานของบริษัทคู่สัญญาจ้าง จะมีการทำหนังสือแจ้งเวียนสำรวจความต้องการการรับวัคซีนของกลุ่มแม่บ้าน/พนักงานของบริษัทคู่สัญญาจ้าง ฯลฯ
เพื่อเข้าสู่การเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการทดสอบการเฝ้าระวัง (ATK Surveillance Test) โดยการตรวจหาเชื้อโดยใช้เครื่องมือ Antigen Test Kit (ATK) บุคลากรและนิสิต ตรวจหาเชื้อ 100% มีกระบวนการ ดังนี้ มีการเผยแพร่วิดีทัศน์วิธีการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย Antigen Test Kit (ATK) แบบ Self-Test ที่ถูกต้อง และในครั้งแรก ให้ดำเนินการตรวจนิสิตทุกคนที่จะมาเรียนในมหาวิทยาลัย โดยใช้วิธีการตรวจภายใต้การควบคุม (Supervised Test) ซึ่งการตรวจคัดกรองต้องตรวจให้ครบทุกคนภายใน 1 สัปดาห์ และการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง (Self-Test) สำหรับบุคลากร อาทิ อาจารย์ อาจารย์พิเศษ บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ จะเป็นการตรวจแบบ Self-Test โดยจะดำเนินการส่ง Antigen Test Kit (ATK) ไปยังส่วนงาน ซึ่งต้องตรวจให้ครบทุกคนก่อนเปิดภาคเรียน ๑๐๐% ทั้งนี้ ยังมีการใช้ BUU APP (Application ของธนาคารกรุงไทย) เป็นช่องทางสื่อสารในการประชาสัมพันธ์สื่อต่าง ๆ รวมถึงเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับนิสิต โดยมีการส่งผลเข้าระบบแอพพลิเคชัน weSAFE@Home ในการสุ่มตรวจคัดกรองนิสิตและบุคลากรทุก ๆ 1 สัปดาห์
สำหรับการจัดหาเครื่องมือตรวจหาเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) กำหนดการจัดหาเครื่องมือตรวจหาเชื้อ Antigen Test Kit (ATK) ไว้สำหรับนิสิตและบุคลากร จำนวนรวมทั้งสิ้น 22,000 คน
อีกทั้งยังมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ในการชะลอการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) D-M-H-T-T และมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) โดยจัดให้มีระบบคัดกรองวัดอุณหภูมิก่อนเข้าอาคาร การเตรียมบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่าง ๆ ในบริเวณจุดสัมผัสร่วมของอาคาร และการใช้หน้ากากอนามัย และเข้าระบบแอพพลิเคชัน : weSAFE@home
สำหรับในส่วนผู้ป่วยสีเขียว มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี คือ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ จะให้เข้าสู่การดูแลตัวเองจากที่บ้าน (Home Isolation : HI) หรือการดูแลตนเองในระบบชุมชน (Community Isolation : CI) ซึ่งการดูแลตนเองในระบบชุมชน (CI) ของมหาวิทยาลัยบูรพา จะดำเนินการในส่วนของหอพักกองกิจการนิสิต 1 ทั้งนี้ การที่นิสิตหรือบุคลากรจะเข้าสู่หอพักกองกิจการนิสิต 1 ได้นั้น จะต้องได้รับตรวจ Polymerase chain reaction (PCR) ยืนยันผลการติดเชื้อจากทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพาอีกครั้ง ผ่านระบบแอพพลิเคชัน : weSAFE@home ทั้งนี้ ได้เสนอคณะพยาบาลศาสตร์เป็นผู้ดูแลตนเองในระบบชุมชน (CI) ณ หอพักกองกิจการนิสิต 1 และต้องทำเรื่องขออนุญาตตั้งการดูแลตนเองในระบบชุมชน (CI) เสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี และในส่วนของมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และวิทยาเขตสระแก้ว ให้ผู้ป่วยเข้ารับการดูแลตามระบบที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด
ทั้งนี้ การป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) (Prevention) ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียน ภาคปลาย ปีการศึกษา 2564 (ภายใน 1 สัปดาห์) มุ่งเป้าให้ยอดผู้ติดเชื้อไม่เกิน ร้อยละ 2 และเมื่อทำการตรวจพบผู้ติดเชื้อเกินร้อยละ 5 มหาวิทยาลัยจะหยุดการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยบูรพา และให้นิสิตกลับไปเรียนรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น
ท้ายสุดนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา “ฝากถึงคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตทุกท่าน ช่วยกันประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับนิสิตและผู้ปกครองทราบต่อไปด้วย รวมทั้งขอให้ดูแลสุขภาพของท่านเองและของนิสิตให้ปลอดภัยตลอดช่วงปีการศึกษานี้ครับ”
17 พฤศจิกายน 2564
ผู้ชม 508 ครั้ง