เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในกิจกรรมปล่อยแถวเจ้าหน้าที่บูรณาการตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ในเรือประมงทะเล ณ ท่าเทียบเรือ สหกรณ์การประมงบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายองครัก ทองนิรมล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเพชรบุรี และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย
นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรีได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายที่มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย แรงงานบังคับขัดหนี้ อันนำไปสู่ประเด็นการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดูแลคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในกิจการประมงทะเล และกิจการที่เกี่ยวเนื่องประมงทะเล ซึ่งภารกิจของคณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในการตรวจสภาพการจ้างสภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ในเรือประมงทะเลของจังหวัดเพชรบุรี มีแผนการตรวจเดือนละ 1 ครั้ง ในครั้งนี้เป็นการตรวจ ครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป้าหมายการตรวจครั้งนี้ กำหนดแผนการตรวจลูกจ้างในเรือประมง จำนวน 50 คน จากเป้าหมายทั้งปี จำนวน 190 คน เป็นการตรวจตามภารกิจ ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของจังหวัดเพชรบุรี จึงขอให้ทุกท่านทำงานบูรณาการความร่วมมือตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน ด้านการค้ามนุษย์ และด้านการป้องกันการใช้สารเสพติดในเรือประมงทะเล ด้วยความตั้งใจร่วมกันทำงานให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายต่อไป
นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ดิฉันลงพื้นที่ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ในกิจกรรมบูรณาการตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ในเรือประมงทะเล ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล โดยท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการชะลอและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบทำงานผิดกฎหมาย กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อเป็นการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติ โดยการบังคับใช้กฎหมายต่อแรงงานข้ามชาติ นายจ้าง และสถานประกอบการ ที่จ้างแรงงานข้ามชาติทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญที่เจ้าหน้าที่ด้านการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวและสถานประกอบการ จากการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กรมเจ้าท่า กรมประมง ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง
สำหรับกิจกรรมการบูรณาการตรวจคุ้มครองในเรือประมงทะเลในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีมาตรการที่ชัดเจน และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กในเรือประมงทะเล
16 ธันวาคม 2564
ผู้ชม 457 ครั้ง