ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดกิจกรรมบริการวิชาการ การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีถุงปลูกย่อยสลายได้ทางชีวภาพให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพะเยา โครงการวิจัย เรื่อง การยกระดับการผลิตถุงปลูกย่อยสลายได้ทางชีวภาพให้ได้มาตรฐานระดับอุตสาหกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญฤทธิ์ สินค้างาม รักษาการคณบดีคณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวเปิดกิจกรรมในครั้งนี้
โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นวิทยากรการบรรยาย ในเรื่อง “การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีของถุงปลูกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ”หรือ ถุงปลูกย่อยสลายได้จากกากกาแฟ และ การบรรยาย เรื่อง “การนำถุงปลูกย่อยสลายได้ไปใช้งานในการเพาะปลูก” และสาธิตการใช้งานถุงปลุกย่อยสลายได้โดย ดร.ภาวินี จันทร์วิจิตร อาจารย์ประจำ สาขาเกษตรศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนิสิต ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงผู้ประกอบการร้านกาแฟ ร้านอาหารในจังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยพะเยา “ถุงปลูกย่อยสลายทางชีวภาพจากพลาสติกพีแอลเอผสมกากกาแฟ เป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ โดยได้เลือกใช้เทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบและพัฒนาจากผลงานวิจัย เข้ามาช่วยในกระบวนการผสมระหว่างพลาสติกพีแอลเอกับกากกาแฟ และผลิตภัณฑ์ฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟ จัดเป็นพลาสติกที่มีความสะอาดปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน เนื่องจากไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเจือปนในผลิตภัณฑ์โดยผลงานนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในด้านการเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์ถุงปลูกเพาะชำพืช ที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ ๑๐๐% พร้อมทั้งสามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟ นำไปใช้ในงานถุงใส่ผลิตภัณฑ์ทางสปา/โรงแรม เช่น ถุงใส่หมวกคลุมผม ถุงใส่คัทเติ้ลบัต นอกจากนี้ยังสามารถผลิตและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟ เพื่อนำไปใช้งานทางด้านฟิล์มบรรจุภัณฑ์ข้าวกล้อง โดยนวัตกรรมนี้ถือว่าเป็นการรักษ์โลก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนต่ำและสามารถนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งได้ผลิตภัณฑ์ถุงปลูกเพาะชำพืช ที่สามารถย่อยสลายได้ ช่วยลดเวลาในขั้นตอนการนำกล้าไม้ลงปลูกเพราะไม่ต้องอีกถุงก่อนลงปลูกอีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดของรากพืชได้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่มาจากพลาสติกจากเชื้อเพลิงได้อีกด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ วิทยากรกล่าว สำหรับประชาชนทั่วไป หรือผู้ประกอบการ นิสิต ที่สนใจสามารถติดตามการจัดกิจกรรมฝึกอบรมและติดต่อสอบถามได้ที่ หน่วยฝึกอบรมวิชาชีพและบริการนานาชาติด้านเกษตรและอาหาร คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ www.agri.up.ac.th
25 กุมภาพันธ์ 2565
ผู้ชม 343 ครั้ง