เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมเสาหลักเศรษฐกิจเพื่อกำหนดทิศทางการศึกษาไทยในการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เวทีโลก โดยมี เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อรรถพล สังขวาสี) ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ (ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร) ผู้แทนเสาหลักเศรษฐกิจไทย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมประชุมภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยสำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook และ Youtube ภายใต้ชื่อ “OEC News สภาการศึกษา”ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
.
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งกล่าวถึง “ทิศทางการพัฒนาการศึกษา เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนสู่การพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยในระดับประเทศและภูมิภาค” ชี้ชัดถึงภาวะการเปลี่ยนผ่านในหลายด้านที่ถูกท้าทายอย่างหนักจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้และทำให้เด็กบางส่วนหลุดออกจากระบบ ยังมีความพยายามผลักดันผู้เรียนไปสู่การรู้หนังสือดิจิทัล และปรับปรุงระบบการศึกษาไทยเพื่อต่อยอดพัฒนาอันดับสมรรถนะ IMD ด้านการศึกษาของไทยที่ดีขึ้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ผ่านมามีการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องแนวทางดังกล่าว คือ นโยบาย Coding for all ที่มุ่งเน้นการสร้าง Coding Communication โดยเฉพาะการขับเคลื่อน Unplugged coding โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เป็นการเรียนรู้และประยุกต์แนวคิดนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้เรียนรู้ที่จะจัดลำดับความสำคัญการเรียนรู้ หาทางเลือก สร้างสรรค์จินตนาการประสานงาน ทำงานร่วมกับผู้อื่น สร้างความรับผิดชอบ และพัฒนาการพึ่งพาตนเองอย่างมั่นใจ ซึ่งมีการอบรมครูกว่า 4๐๐,๐๐๐ คน เพื่อเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ Unplugged coding ขยายผลเชิงรุกไปทั่วประเทศทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สร้างผลลัพธ์ที่ดีให้ทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มอาชีพได้เกิดการเรียนรู้เรื่อง Coding สามารถปรับตัวไปสู่โลกดิจิทัล
คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้ปรับเปลี่ยน STEM เป็น STEAM ที่ไม่ได้ส่งเสริมแค่การเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM เท่านั้น แต่ได้เพิ่ม A ที่หมายถึงศิลปะแห่งชีวิตหรือ Art of Life เพิ่มทักษะการใช้ชีวิต ทำงาน และการเล่น ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ด้วย เพื่อสามารถทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความหลากหลายในอนาคต สำหรับความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ที่ยังอยู่ในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการของรัฐสภาจนกว่าจะได้ข้อยุติ เรามีโอกาสพัฒนาการศึกษาระดับโลกและกำลังคนแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เป็นธรรมนูญการศึกษาแห่งความหวังเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และใช้ระบบดิจิทัลยกระดับระบบการศึกษาไทยอย่างเท่าเทียมนานาชาติ
“ดีใจที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ของสังคมมีความตื่นตัว เกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งการศึกษาไม่สามารถที่จะทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน แม้จะรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ตาม ใครถนัดอะไรทำเรื่องนั้นไปก่อน กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องสร้างเด็กให้มีพื้นฐานในภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาชีพต่างๆ มีความสำคัญ เทคโนโลยีมีความสำคัญ แต่สามารถไปเรียนรู้ภายหลังได้ ขอให้มีกระบวนการคิดที่ถูกต้อง มีเหตุมีผลในเชิงตรรกะ เชิงวิทยาศาสตร์ เชิงคณิตศาสตร์ให้ได้ก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานให้มีวิธีคิด เมื่อเขาไปเจอะปัญหาในอนาคตซึ่งไม่มีใครกำหนดได้ การที่กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการมาในระยะเวลา 2-3 ปี มีความภาคภูมิใจที่ได้วางรากฐานภูมิคุ้มกันให้เขาได้ก้าวต่อไปในชั้นต่าง ๆ ด้วยการพัฒนา กระบวนความคิด ความรู้ที่มีความสำคัญ และกระบวนการคิดที่มีความสำคัญกว่า เมื่อมีความรู้แต่ไม่มีกระบวนการคิดที่ดีก็จะไม่เกิดประโยชน์เชิงประจักษ์ที่เรากำลังมองหาอยู่ คือ ให้เกิดประโยชน์เชิงประจักษ์เป็นรูปธรรม ซึ่งครูทุกคนต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่า การสอนวิชาความรู้ต่าง ๆ ความรู้ที่เรียนทุก ๆ วิชา จะต้องบอกเด็กว่า จะเอาไปลดภาระพ่อแม่ได้อย่างไร เราต้องการปลูกฝังเด็กทั้งประเทศให้มีแนวคิดในการแก้ปัญหาของตัวเองที่เขาเผชิญอยู่ แก้ปัญหาและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองให้มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของครอบครัวด้วยทางตรงและทางอ้อมได้ ”รมช.ศธ. กล่าวในที่สุด
ทางด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. สนองบัญชาของนายกรัฐมนตรีในนามของ ศธ. ร่วมมือกับผู้บริหารและผู้แทนของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สภาหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนเสาหลักเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต (กลุ่มธุรกิจบริการ ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ เกษตรอัจฉริยะ และหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ) ซึ่งทุกหน่วยงานที่กล่าวมาจะเป็นกำลังสำคัญร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสู่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งกำหนดมาตรการเร่งด่วนและเป็นรูปธรรมในการพัฒนาทักษะกำลังคนรองรับผลกระทบของสถานการณ์หลังโควิด-19 รวมทั้งปรับเปลี่ยนกำลังคนให้สามารถตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศ ภายใต้สถานการณ์ของโลกที่กำลังผันผวนในขณะนี้
ในระหว่างบรรยายพิเศษ “การพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ทาง ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปลี่ยนไป การจัดระเบียบขั้วอำนาจของโลกใหม่ ความขัดแย้งในยูเครน รวมทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ กำลังสะท้อนให้เห็นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มถดถอย แนวโน้มการเติบโตที่ช้าลง ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าที่ตกต่ำและเป็นเศรษฐกิจที่เปราะบาง นอกจากนี้ ยังต้องรับมือกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ที่พลิกโฉมจากเกษตรกรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมฐานการผลิต เพื่อส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท การขับเคลื่อนธุรกิจของภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนประเทศส่งผลให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจใหม่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจทุกมิติ
เทคโนโลยีดิจิทัลได้เปลี่ยนวิถีการผลิตในหลายอุตสาหกรรมทั้งภาคเกษตรกรรม การศึกษา การแพทย์ การเงิน ฯลฯ ซึ่งความเสี่ยงที่ตามมาคือการผลิตด้วยกระบวนการอัตโนมัติ หรือหุ่นยนต์ จะเข้ามาทดแทนกำลังคน โดยเฉพาะกำลังคนทักษะต่ำที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์และความท้าทายปัจจุบัน ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาทักษะของแรงงานเพื่อให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ความพยายามสร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทย ต้องพุ่งเป้าปัญหาความสามารถในการแข่งขัน โดยเร่งปรับศักยภาพการส่งออกสินค้าที่สอดรับอุตสาหกรรมใหม่ New S-curve เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในสินค้าส่งออกของไทย และลดการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาระบบศึกษาและคุณภาพแรงงานให้มีทักษะที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพปัจจัยการผลิต รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ
แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งหลักสูตรการศึกษาและในเชิงธุรกิจอุตสาหกรรม อาจใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมา ทว่า ในระยะต่อไปภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินโยบายเชิงรุกมากขึ้นเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจความต้องการของที่แท้จริงนักลงทุน รวมทั้งการกำหนดนโยบายต่าง ๆ จะช่วยดึงดูดการลงทุนต่างชาติรายใหม่ ๆ อย่างตรงความต้องการ เพื่อจุดประกายเริ่มต้นผลักดันไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของโลกได้
.
ทั้งนี้ ยังมีการเสวนา “พัฒนาทักษะ พัฒนากำลังคน สู่การพัฒนาเศรษฐกิจ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานในอนาคต” หลอมรวมความคิดจากภาคผลิตกำลังคนให้แมตชิงกับภาคผู้ใช้กำลังคน นำโดย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัด อว. นางสาวภัทรพร เล้าวงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพัฒนาสังคม สศช. นายดุสิต อนันตรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชี้นำและเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม อก. และ นายจิตรพงศ์ พุ่มสอาด ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร รง. ร่วมสะท้อนปัจจัยและเชื่อมโยงสะพานทอดยาวไปสู่การยกระดับสมรรถนะกำลังคนที่มีทักษะระดับสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
29 มิถุนายน 2565
ผู้ชม 405 ครั้ง