เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำแผนยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก โดยมีนางศิริพร ศริพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านวิจัยและประเมินผลการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์) ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา ( และผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คุณพรกนก วิภูษณวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแลกเปลี่ยน ณ ห้องประชุมดิสทริค เอ็ม บอลรูม โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา บางกอก พระนคร กรุงเทพมหานคร
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาสภาวการณ์การศึกษาทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางการเรียนนรู้ (Learning Loss) สัมพันธ์กับความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาที่มีอันดับลดลง จึงทำให้เกิดการวิเคราะห์สภาวการณ์การศึกษาของไทยทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อคาดการแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดทำรายงานสภาวการณ์ทางการศึกษาอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ และระดับพื้นที่
“สอดคล้องตัวชี้วัดการขับเคลื่อนการศึกษาของไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้กำหนดตัวชี้วัดสำคัญให้มีการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยจัดทำแผนยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก เน้นการพัฒนาผลการประเมินใน ๓ ดัชนีหลัก คือ ๑) ผลการทดสอบ PISA ๒) ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือสถาบัน IMD สวิตเซอร์แลนด์ และ ๓) ผลการจัดอันดับโดย World Economic Forum (WEF) ทั้งนี้ สกศ. เตรียมขับเคลื่อนการสร้างแผนการศึกษาระดับจังหวัด เพื่อให้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกัน” ดร.สุเทพ กล่าว
การบรรยายพิเศษ เรื่อง ผลการจัดอันดับ PISA โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าในปี ๒๐๑๘ ผลการจัดอันดับสะท้อนสมรรถนะของผู้เรียนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และในปี ๒๐๒๒ ได้มีการประเมินวัดความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยผลการจัดอันดับจะทราบในเดือนธันวาคม ในปี ๒๐๒๓ ซึ่งผลการจัดอันดับจะช่วยให้หน่วยงานด้านการศึกษาวิเคราะห์สมรรถนะผู้เรียนทั้งประเทศ เพื่อปรับการเรียนการสอนเน้นเติมจุดอ่อน เสริมจุดแข็งให้สมรรถนะด้านการศึกษาของไทยดีขึ้น
คุณพรกนก วิภูษณวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวเสริมเรื่องผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของสถาบัน IMD ว่า มีการวัดผลจาก ๔ ตัวชี้วัด คือ ๑) เศรษฐกิจ (Economic Performance ๒) ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ๓) ประสิทธิภาพของภาคเอกชน (Business Efficiency) และ ๔) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งการศึกษาอยู่ในตัวชี้วัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน และในปี ๒๕๖๕ ด้านการศึกษาของประเทศไทย ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ ๕๓ จากเดิมอยู่ที่อันดับ ๕๖ ในปี ๒๕๖๔ และเป็นอันดับดีที่สุดในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา ซึ่งการขยับอันดับให้สูงขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษา
นอกจากนี้ ที่ประชุมแบ่งกลุ่ม Workshop เสนอข้อคิดเห็นตัวชี้วัด ๒ ด้าน ได้แก่ ๑) การจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (Academic Indicators) และ ๒) การผลิตและพัฒนากำลังคนและแรงงาน (Workforce Indicators) โดย สกศ. จะรวบรวมเป็นแนวทางการจัดทำแผนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของไทย และใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนและกำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศต่อไป
26 พฤศจิกายน 2565
ผู้ชม 297 ครั้ง