เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 111 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ณ นครเจนีวา พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เข้าร่วมการประชุมและรับฟังถ้อยแถลงด้วย
นายสุชาติ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับ ILO ในการจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งในนามรัฐบาลไทยเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมในครั้งนี้ โดยขอสนับสนุนแนวคิดของคุณกิลเบิร์ต เอฟ ฮองโบ (Mr. Gilbert F. Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศคนใหม่ ที่ว่า การรวมกลุ่มระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม (Global Coalition for Social Justice) จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเสริมสร้างความสามารถของรัฐสมาชิกในการบรรลุ ‘ความยุติธรรมทางสังคม’ ซึ่งเป็นเป้าหมายร่วมกันของ
ทุกคน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและมีบทบาทเชิงรุกในการยกระดับความยุติธรรมทางสังคมและส่งเสริมงานที่มีคุณค่าทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ รวมทั้งตระหนักถึงความจำเป็นในการสนับสนุนหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน การขจัดความไม่เท่าเทียมโดยใช้กลไกการเจรจาทางสังคม การสร้างความยืดหยุ่นในช่วงเวลาวิกฤติ โดยการส่งเสริมการจ้างงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันตลาดแรงงาน การขจัดช่องว่างระหว่างเพศในโลกแห่งการทำงาน การส่งเสริมนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และการขยายขอบเขตการคุ้มครองทางสังคม
โอกาสเดียวกันนี้ นายสุชาติ ยังได้นำเสนอการดำเนินการของประเทศไทยในการสนับสนุนธุรกิจและแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคม ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การรณรงค์ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ช่วยส่งเสริมสุขภาวะในการทำงาน และสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งสนับสนุนสังคมยั่งยืนในประเทศไทย การส่งเสริมการจ้างงานและป้องกันการเลิกจ้าง โดยการจัดมหกรรมจัดหางานระดับชาติที่เรียกว่า “Job Expo” เพื่อสนับสนุนแรงงานทุกคนในการหางานที่มั่นคงและปลอดภัย ในตำแหน่งงานที่เหมาะสม การฝึกงานที่มีคุณภาพยังเป็นกุญแจสำคัญสู่การจ้างงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล รวมทั้งระบบการคุ้มครองแรงงานและการคุ้มครองสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อลูกจ้างทุกคน รัฐบาลได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้แน่ใจว่าทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ตลอดจนแรงงานที่เปราะบางและแรงงานข้ามชาติ ให้มีรายได้ที่มั่นคง สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การริเริ่มใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจะช่วยเปลี่ยนรูปแบบเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสังคมให้หลากหลายและยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการออมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเกษียณอายุของลูกจ้าง
“ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับ ILO และประชาคมระหว่างประเทศว่า เราไม่สามารถสร้างความยุติธรรมทางสังคมได้จากความพยายามของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว ระบบไตรภาคีและการบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วน รวมถึงนายจ้างและลูกจ้างเป็นสิ่งจำเป็น เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อโลกแห่งการทำงานที่ดีขึ้น และจะสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือกัน ซึ่งประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมร่วมกันต่อไป”นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด
15 มิถุนายน 2566
ผู้ชม 222 ครั้ง