คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการปฐมนิเทศและให้โอวาสนักศึกษา โครงการอบรมพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ และเตรียมความพร้อมเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ของนักศึกษาภายใต้โครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาพืชศาสตร์ ไทย-อิสราเอล ประจำปี พ.ศ. 2566 รุ่นที่ 24 จำนวน 78 คน ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. - 2 ส.ค 66 ก่อนเดินทางไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ ศูนย์ฝึกอบรมนานาชาติด้านการเกษตร ในเขตอาราวา The Arava International Center for Agricultural Training (AICAT) สาธารณรัฐอิสราเอล โดยมีนายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ นายชาติชาย เกตุพรหม ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และนักศึกษา เข้าร่วม ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้เล็งเห็นว่าสาขาเกษตรกรรมจะต้องเป็นสาขาวิชาหลักๆ ของประเทศไทย ด้วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่าเศรษฐกิจ และรายได้หลักของประเทศไทยล้วนมากจากภาคเกษตรกรรม ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะผลักดันการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาสาขาเกษตรกรรม ให้มีความทันสมัย มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านการเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมด้านการเกษตร ที่จะไม่อยู่แค่ในวงการการศึกษา แต่ต้องขยับออกไปสู่วงการอุตสาหกรรมในระดับกว้าง โครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนทวิภาคี ระดับ ปวส. สาขาวิชาพืชศาสตร์ ไทย – อิสราเอล ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาโดยการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ที่จำเป็นต่อสาขาเกษตรกรรม กระทรวงศึกษาธิการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันการอาชีวศึกษา และสถานศึกษา จะร่วมกันผลักดันการเกษตรของไทยให้ประสบความสำเร็จ และเป็นสาขาวิชาแถวหน้าของประเทศไทย การเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่ นักศึกษาทุกคนจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง รู้ถึงกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมในการเกษตร การเป็นมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จด้านเกษตรกรรม ผ่านการเรียนรู้แบบ Learning by doing เป็นระยะเวลา 10 เดือน ให้นักศึกษาทุกคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์และนำความรู้ที่ได้รับเข้าสู่ตลาดแรงงานและประกอบธุรกิจด้านเกษตรอย่างภาคภูมิ ตลอดจนนำความรู้มาเผยแพร่ให้เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป
คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า รู้สึกยินดีกับนักศึกษาทุกคนที่ได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในต่างประเทศ อิสราเอล เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมด้านการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง หรือที่เราเรียกว่าเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยีทะเลทราย การพัฒนาภาคการเกษตรของอิสราเอลจัดว่าเป็นการพัฒนาที่เกิดจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐ นักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่เกี่ยวข้อง จนนำมาซึ่งเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นระบบการชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การย่อยสลายแบบไร้อากาศ ระบบการปลูกพืชในเรือนกระจก รวมทั้งการวิจัยการเกษตรในทะเลทราย และการกำจัดเกลือ อิสราเอลได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ทำเกษตรกรรมอย่างเข้มข้น หนึ่งในสามของผลผลิต ที่สามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะยุโรป ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ปัจจุบันอิสราเอลยังให้ความสนใจในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีระบบเกษตรกรรมที่ล้อมรอบเขตเมือง และการสร้างความเป็นผู้ประกอบการของเกษตรกร เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
สำหรับรัฐบาลไทยกับการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการสร้างความยั่งยืนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก และวันนี้ได้เข้าสู่ยุคของการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคมจากสภาวการณ์ต่างๆ โดยรัฐบาลเน้นย้ำและให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ สามารถอาศัยทุนความได้เปรียบของประเทศไทยในความหลากหลายเชิงชีวภาพมาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างความกินดี อยู่ดีให้กับประชาชนชาวไทยในทุกภูมิภาค และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้
ด้านนายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ กล่าวว่า สอศ. มุ่งเน้นสร้างกำลังคนอาชีวศึกษาให้มีความเข้มแข็ง มีสมรรถนะที่จำเป็นต่อวิชาชีพ การส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ผ่านเครื่องข่ายความร่วมมือที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ และการเข้ารับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เรียนรู้ถึงกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมในการเกษตร สอศ. จึงมุ่งหวังให้นักศึกษาทุกคนตั้งใจเรียนรู้ และนำประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาใช้ในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของประเทศไทย ให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับจากทั่วโลก ตลอดจนนำความรู้มาเผยแพร่สู่เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป
04 สิงหาคม 2566
ผู้ชม 183 ครั้ง