วันที่ 17 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีเสวนาและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “กระทรวงแรงงานกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน สุขภาวะที่เท่าเทียม”เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrants Day) ประจำปี 2566 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทรงพันธ์ ตันตระกูล หัวหน้าโครงการพัฒนาข้อเสนอนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นางสาวเจราดีน อองซาร์ค หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน
นายสิรภพ กล่าวว่า ผมมีความยินดียิ่งที่ได้มาร่วมเวทีเสวนาเนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล "กระทรวงแรงงานกับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน สุขภาวะที่เท่าเทียม" ปัจจุบันกระแสการเคลื่อนย้ายถิ่นระหว่างประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคอาเชียน โดยในระยะหลังประเทศต่างๆ ในโลก ต่างหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการบริหารจัดการการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต้นทาง ปลายทาง และต่อผู้ย้ายถิ่นเอง ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแรงงานข้ามชาติทำงานในอาชีพพื้นฐานต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดส่วนใหญ่เป็นการทำงานที่ใช้แรงงานและทำงานบ้านเป็นจำนวนมากประมาณร้อยละ 6 ของแรงงานทั้งประเทศ
นายสิรภพ กล่าวต่อว่า ผมตระหนักดีว่าสิทธิมนุษยชนเป็นรากฐานที่เข้มแข็งของสังคมและธุรกิจ การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและปฏิบัติ กระทรวงแรงงานจึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยมุ่งหวังแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว ผมรู้สึกภูมิใจที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2562 โดยแผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ปี 2555 ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 เพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างซึ่งจ้างลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ซึ่งหมายถึง งานที่ทำในบริเวณที่พักอาศัยและยังรวมถึงงานที่ทำเพื่อครัวเรือนเดียวหรือหลายครัวเรือนมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย เช่น งานทำความสะอาดบ้าน งานซักรีดเสื้อผ้า งานเลี้ยงเด็กหรือดูแลผู้สูงอายุงานดูแลสวนในบ้าน งานรักษาความปลอดภัย งานซ่อมบำรุง งานขับรถงานทำอาหาร งานดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นต้น โดยกฎกระทรวงฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองลูกจ้างเกี่ยวกับห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้รับสิทธิในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี การจ่ายค่าจ้างวันลาป่วย การห้ามนายจ้างล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับคนงานทำงานบ้าน ค.ศ. 2011 ซึ่งเป็นมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศที่มุ่งให้ความคุ้มครอง แก่ลูกจ้างทำงานบ้านเพิ่มเติมจากมาตรฐานทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงสภาพการทำงานของลูกจ้างทำงานบ้านช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงาน ลดความเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงานการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีเป้าหมายในการปรับปรุงแก้ไขกฏกระทรวง ฉบับที่ 14 เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้กับลูกจ้างทำงานบ้าน รวมจำนวน 11 เรื่อง อาทิ ให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ให้ลูกจ้างทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง ให้ลูกจ้างลากิจธุระอันจำเป็น ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างในระหว่างที่ลาคลอด 45 วัน และห้ามเลิกจ้างลูกจ้างหญิง เพราะเหตุมีครรภ์ ซึ่งขณะนี้ร่างกฎกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไป
“กระทรวงแรงงาน จึงได้เร่งรัดผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความคุ้มครองด้านแรงงานและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างความเป็นธรรมด้านรายได้ให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป” นายสิรภพ กล่าวท้ายสุด
19 ธันวาคม 2566
ผู้ชม 149 ครั้ง