วันพุธที่ 24 มกราคม 2567 มหาวิทยาลัยพะเยา โดยกองบริหารงานวิจัย จัดนิทรรศการโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม 2566 โดยนางสาวอัญชลี เทียมคีรี ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน และอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพะเยา คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตเข้าร่วมงาน ณ อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญโญ) มหาวิทยาลัยพะเยา
อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ กล่าวว่า งานวิจัย เป็นรากฐานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้องค์ความรู้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ก้าวหน้า และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน เพื่อพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่าย เกิดเป็นการทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่สู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals:SDGs) เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม นิทรรศการโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม 2566 เป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่ง ที่จะเป็นเวทีแสดงผลสำเร็จในการดำเนินงานโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม ในรอบปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานและบุคลากรจากหลายภาคส่วนได้มีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป
กองบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยพะเยา จัดนิทรรศการ "โครงการ 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม" ร่วมกับงานพะเยาวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ผลสำเร็จ ของการดำเนินงานโครงการฯ ที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และสังคม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ร่วมกันทุกหน่วยงาน ตอกย้ำบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ดังปณิธานของมหาวิทยาลัย "ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน"
รูปแบบของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานประจำปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดนิทรรศการ การประกวดผลการดำเนินงาน และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ที่ได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการฯ โดยมีหน่วยงานที่เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 18 หน่วยงาน และมีจำนวนผู้ตอบรับเข้าร่วมงานกว่า 200 ท่าน ทั้งนี้จะประกาศผลรางวัลในพิธีเปิดการประชุมวิชาการพะเยาวิจัย ครั้งที่ 13 ในวันที่ 25 มกราคม 2567 โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณารางวัลจำนวนทั้งสิ้น 10 ท่าน โดยมีรายนามดังนี้
1. ศาสตราจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา
2. รองศาสตราจารย์ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
4. รองศาสตราจารย์ ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี
5. รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา มิ่งฉาย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยการเงินและบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
7. ศาสตราจารย์ ดร.สุทิสา ถาน้อย มหาวิทยาลัยนเรศวร
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัชชา สามพิมพ์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
9. คุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช ผู้ทรงคุณวุฒิ บพท.
10. Prof.Dr.Gavin Reynolds จาก มหาวิทยาลัย Sheffield Hallam ประเทศอังกฤษ
กิจกรรมภายในงานวันนี้ มีพิธีเปิดกิจกรรม Section : การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ครั้งที่ 1 และพิธีมอบ ป้าย Carbon Credit ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา การบรรยายพิเศษ เรื่อง “การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และอุทยานแห่งชาติคาร์บอนต่ำ” โดย ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บรรยายพิเศษ เรื่อง “ทิศทางและแนวโน้มการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บรรยายพิเศษ เรื่อง “อนาคตธุรกิจคาร์บอนเครดิตและอุตสาหกรรมบริการไทย” โดย Mr.James Andrew Moore ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WAVE BCG Co., Ltd. บรรยายพิเศษ เรื่อง “การส่งเสริมสุขภาพและการเที่ยวไทย” โดย สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และการนำเสนอผลงานวิชาการ แบบ Oral Presentation ในรูปแบบ Onsite และ Online
27 มกราคม 2567
ผู้ชม 125 ครั้ง