วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ การกีฬาแห่งประเทศไทย นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดฝึกอบรมการเป็นผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อยกระดับสู่การเป็นผู้ทดสอบสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย โดยมี นายปรีชา ลาลุน รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ ประธานอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ผู้บริหารการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้ด้วย
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวหลังจากเป็นประธานเปิดฝึกอบรมว่า ปัจจุบันชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาศิลปะมวยไทย ทำให้มวยไทยเป็นที่รู้จักของทั่วโลก นอกจากเป็นศิลปะวัฒนธรรมแล้ว มวยไทยยังเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย เป็นแหล่งด้านการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ช่วยสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ อาชีพครูมวยกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมีนโยบายผลักดันมวยไทยเป็น Soft Power ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกและได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่อาชีพครูมวย เพื่อยกระดับมาตรฐานของครูมวยไทย อย่างเร่งด่วน
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มอบหมายให้กองพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงานดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วประเทศ จำนวน 43 คน ในหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 ระหว่างวันที่ 12 – 14 กุมภาพันธ์ 2567 ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง ผู้ที่ผ่านการอบรมในครั้งนี้ จะเป็นผู้ที่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1โดยได้รับวุฒิบัตรหลักสูตรผู้ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1 จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ ได้แก่ ขั้นตอนการจัดเตรียมสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ สำหรับการทดสอบ การควบคุมการทดสอบ การให้คะแนนและวิธีการวัดและการประเมินผล เนื่องจากการทดสอบฯ สาขาดังกล่าว มีเกณฑ์หรือข้อกำหนดในการประเมินผลที่ต้องพิจารณาหลายขั้นตอน อีกทั้งผู้ทดสอบ สาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ 1จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ความสำคัญ ประโยชน์ รวมถึงทักษะเบื้องต้น เช่น การใช้หมัด เท้า เข่า ศอก ทักษะการรุก การรับ การป้องกัน การตอบโต้ แม่ไม้มวยไทย คุณธรรม จรรยาบรรณ เป็นต้น เพื่อให้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นที่ยอมรับ มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยผู้ผ่านการอบรมดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ทดสอบฯ ณ สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ
ผู้เข้าอบรมในครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ฝึกสอนด้านมวยไทย จากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ อาทิ การกีฬาแห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาการกีฬากองทัพบก(มวยไทยลุมพินี) มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ โรงเรียน ไทเกอร์ มวยไทย แอนด์ มิกซ์ มาร์เชียบ อาร์ต
"มวยไทยถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย การสร้างครูมวยที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนมวยไทยต้องมีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับโดยมีหน่วยงานการันตีความสามารถ ตลอดจนเพื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศมากยิ่งขึ้น " อธิบดีบุปผา กล่าวท้ายสุด
13 กุมภาพันธ์ 2567
ผู้ชม 131 ครั้ง