วันนี้ (20 มี.ค. 67) นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำสรุปผลการดำเนินงานโครงการ TVET Capacity Building และการประชุมจัดทำแผนการขับเคลื่อนโครงการ Modernizing TVET Skill Development for Post Covid-19 ระยะที่ 2 ภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2567 โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนจากสำนักและหน่วยงานภายใน สอศ. เข้าร่วม ณ สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา
นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ในนามของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ขอชื่นชมทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้กองทุนพิเศษกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จและได้รับความเชื่อมั่นจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนในการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานโครงการ TVET Capacity Building นื้ ถือเป็นโครงการที่ 3 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินงานในโครงการที่ 4 คือ โครงการพัฒนาทักษะวิชาชีพยุคใหม่หลังสภาวการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ( Modernizing TVET Skill Development for Post Covic-19) จากแถลงการณ์ร่วม (ปฏิญญาพนมเปญ) ระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจประเทศสมาชิก MLC และรับรองเอกสารผลลัพธ์แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) และได้มีวิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกคือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอนุภูมิภาค ยกระดับความป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ลดช่องว่างการพัฒนา และสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเชียนผ่านเสาความร่วมมือ 3 เสา ได้แก่ 1) ประเด็นทางการเมืองและความมั่นคง 2) การพัฒนาเศรษฐกิจและความยั่งยืน และ 3) การแลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรม และประชาชนกับประชาชนของทั้ง 6 ประเทศสมาชิก เพื่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และการมีเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย
ซึ่งมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นบทกำกับการปฏิบัติ มีเป้าหมายในการ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยพัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพิ่มประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาลของภาครัฐ และเอกชน โดยเน้นการเติบโต บนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านอุตสาหกรรมหลักภายใต้โครงการประเทศไทย 4.0 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ถือเป็นโครงการที่จะเป็นประตูหลักในการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศ CLMV และจะเป็นทางเชื่อมต่อ เส้นทางสายไหมใหม่ ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับประเทศในอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนานาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV
ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า การจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ จะมีบทบาทสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ และในระดับภูมิภาค การแลกเปลี่ยนและร่วมกันในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ตั้งแต่ทักษะศตวรรษที่ 21 ที่เกี่ยวข้องกับการคิด การแก้ปัญหา และทักษะข้ามมิติอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงคุณลักษณะที่จำเป็นของนักเรียน เช่น คุณธรรม ทักษะชีวิต และทักษะทางสังคม และการเตรียมนักเรียน นักศึกษาให้พร้อมสำหรับภูมิภาคและพลเมืองโลก ถือเป็นประเด็นใหม่ในปัจจุบันที่ประเทศสมาชิกแม่โขงล้านช้างจะร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคของเรา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ และสามารถยกระดับหน่วยงานให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังคนแม่โขง-ล้านช้างในมิติการศึกษา เศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มภาคภูมิ
20 มีนาคม 2567
ผู้ชม 183 ครั้ง