วันที่ 24 เมษายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม (Welding Skill Development Academy: WelDA) โดยมีนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสุพจน์ ภูติเกียรติขจร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมในพิธีเปิด ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานมีนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านกำลังแรงงาน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยเฉพาะช่างเชื่อมโลหะซึ่งเป็นแรงงานทักษะฝีมือชั้นสูง และมักจะเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น การก่อสร้างระบบราง ท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ช่างเชื่อมต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีทักษะมาตรฐานสากล รองรับการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษ เขต EEC อุตสาหกรรมหลัก เรือเดินทะเล และงานตรวจซ่อมรื้อถอนใต้น้ำ เป็นต้น โดยข้อมูลสถิติจาก Manpower Group 2018 ระบุว่าทั้งประเทศมีความต้องการแรงงานช่างเชื่อมมากกว่า 300,000 คน (ที่มา : SALIKA)) ซึ่งเป็นสาขาอาชีพที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แรงงานจึงมีความจำเป็นต้องรับการพัฒนายกระดับทักษะเพื่อให้สามารถปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีด้านงานเชื่อมสมัยใหม่ มีมาตรฐานสากล รวมทั้งรองรับการเปลี่ยนแปลงของทักษะฝีมือแรงงานในอนาคต กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม (Welding Skill Development Academy) หรือ WelDA เพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายรัฐบาล ยกระดับศักยภาพแรงงานไทย ทั้งการ Up-skill Re-skill ฝีมือแรงงาน ให้ได้มาตรฐาน รองรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สามารถตอบโจทย์นโยบายค่าแรงของรัฐบาล และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อมเป็นศูนย์ฝึกอบรมเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Excellence Training Center) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับฝีมือแรงงาน แก้ไขปัญหาขาดแคลน สร้างแรงงานช่างเชื่อมยุคใหม่ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและก้าวสู่ค่าแรงตามมาตรฐานฝีมือ โดยมีภารกิจในการฝึกอบรม ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและทดสอบมาตรฐานสากลในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านการเชื่อม ส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและพัฒนาวิทยากรต้นแบบด้านการเชื่อม อีกทั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเชื่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจจากสถาบันการเชื่อมสากล ให้สามารถดำเนินการฝึกอบรมช่างเชื่อมตามหลักสูตรช่างเชื่อมสากลได้ สถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อม จึงมีสถานะเป็นศูนย์ฝึกอบรมและทดสอบฝีมือช่างเชื่อมที่ได้รับอนุญาต ( Approved Training Body: ATB ) จากสถาบันการเชื่อมสากล( International Institute of Welding: IIW ) ผู้ที่ผ่านการอบรม จะได้รับวุฒิบัตรผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรช่างเชื่อมสากล จะเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกสถาบันการเชื่อมสากล มากกว่า 51 ประเทศทั่วโลก สถาบันพัฒนาบุคลากรการเชื่อมแห่งนี้ จึงเป็นสถาบันที่สามารถผลิตช่างเชื่อมเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมของไทยได้อย่างมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เบื้องต้นสถาบันร่วมกับมูลนิธิพระดาบส ดำเนินการพัฒนาทักษะช่างเชื่อมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ อาทิ ภาคใต้ ภาคตะวันออก
26 เมษายน 2567
ผู้ชม 120 ครั้ง