กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดสัมมนาให้เตรียมความพร้อมเยาวชน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และทีมฝึกเยาวชน ก่อนเข้าเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 (WorldSkills Lyon 2024) กำหนดจัดแข่งขันระหว่างวันที่ 3 - 17 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้ายูเร็กซ์โป (Eurexpo) เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส ไทยส่งเยาวชน 22 คน ใน 19 สาขาการแข่งขัน
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 47 มีกำหนดจัดแข่งขันระหว่างวันที่ 3- 17 กันยายน 2567 ณ เมืองลียง สาธารณรัฐฝรั่งเศส จำนวน 59 สาขา ผู้แข่งขันมากกว่า 1,500 คน จากประเทศสมาชิกกว่า 65 ประเทศหรือเขตการปกครอง โดยประเทศไทยจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 22 คน ใน 19 สาขา ได้แก่ 1. สาขากราฟิกดีไซน์ (Graphic Design Technology) 2. สาขาการก่ออิฐ (Bricklaying) 3. สาขาการจัดดอกไม้ (Floristry) 4. สาขาการแต่งผม (Hairdressing) 5. สาขาการปูกระเบื้อง (Wall and Floor Tiling) 6. สาขาการสร้างโมเดลในเกมสามมิติ (3D Digital Game Art) 7. สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม (Welding) 8.สาขาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าภายในอาคาร (Electrical Installations) 9. สาขาเทคโนโลยีระบบทำความเย็น (Refrigeration and Air Conditioning) 10. สาขาเทคโนโลยีเว็บ (Web Technologies) 11. สาขาเมคคาทรอนิกส์ (ประเภททีม) (Mechatronics) 12. สาขาหุ่นยนต์เคลื่อนที่ (ประเภททีม) (Autonomous Mobile Robotics) 13. สาขาการซ่อมตัวถังรถยนต์ (Auto body Repair) 14. สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย (Health and Social Care) 15. สาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม (Restaurant Service) 16. สาขาการประกอบอาหาร (Cooking) 17. สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) (CNC Turning) 18. สาขาเทคโนโลยีสีรถยนต์ (Car Painting) 19. สาขาอุตสาหกรรม 4.0 (ประเภททีม) (Industry 4.0) ซึ่งผลงานล่าสุดจากการแข่งขันระดับนานาชาติ ครั้งที่ 46 ในปี 2565 ประเทศไทยสามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ทั้งหมด 7 เหรียญ ประกอบด้วย 1 เหรียญเงิน จากสาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกลึง) และ 7 เหรียญฝีมือยอดเยี่ยม ได้แก่ สาขาเครื่องจักรกล CNC (เครื่องกัด) สาขาเมคคาทรอนิกส์ (ประเภททีม 2 คน) สาขาการออกแบบเกมเชิงสามมิติ สาขาการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย สาขาการประกอบอาหาร และสาขาการบริการอาหารและเครื่องดื่ม จากการส่งเยาวชนจำนวน 13 คน ใน 12 สาขาการแข่งขัน
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า การจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติเป็นภารกิจสำคัญในการส่งเสริมมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยให้แพร่หลายในกลุ่มกำลังแรงงานและเยาวชนที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต รวมถึงการแสดงศักยภาพของทักษะฝีมือของเยาวชนไทยสู่สายตาชาวต่างชาติ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันและบุคลากรฝึกที่เกี่ยวข้องสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันมาปรับใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยสู่ระดับสากล อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและผลักดันให้เยาวชนรุ่นต่อเร่งพัฒนาทักษะฝีมือของตนเองให้มีความเป็นเลิศ โดยกรมและหน่วยงานผู้สนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการการศึกษา ร่วมประสานความร่วมมือในการทำหน้าที่เก็บตัวฝึกซ้อมให้กับน้องๆเยาวชน ที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน โดยแต่ละสาขาจะเก็บตัวฝึกซ้อม สาขาละ 2 คน ส่วนประเภททีมจะเก็บตัวสาขาละ 2 ทีม ทีมละ 2 คน โดยก่อนการเก็บตัวฝึกซ้อมกรมจึงได้มีการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจตั้งแต่เส้นทางการเป็นตัวแทนสู่เวที่การแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ แนวปฏิบัติและจริยธรรม กฎ ในการแข่งขัน ตลอดจนการวางแผนการเก็บตัวฝึกซ้อม พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงานในกลุ่มเยาวชนที่เก็บตัวฝึกซ้อม ผู้เชี่ยวชาญ และทีมฝึกเยาวชน ก่อนที่จะมีการคัดเลือกตัวแทนประเทศไทย สาขาละ 1 คน หรือสาขาประเภททีมสาขาละ 1 ทีม เพื่อแสดงทักษะฝีมือบนเวทีระดับโลกดังกล่าวต่อไป
05 พฤษภาคม 2567
ผู้ชม 83 ครั้ง