วันนี้ (13 พ.ค.2567 ) ที่วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานประชุมมอบนโยบายส่วนราชการทางการศึกษาติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในการลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 3/2567 กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 ประกอบด้วยจังหวัดเพชรบุรี,ประจวบคีรีขันธ์,สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม โดยมีศึกษาธิการจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัด รายงานผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาของแต่ละจังหวัด มีผู้บริหารผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุม และแบบออนไลน์ รวมกว่า 500 คน พร้อมเยี่ยมชมบูธนิทรรศการผลงานนักศึกษาอาชีวศึกษา จากวิทยาลัยต่างๆในจังหวัดเพชรบุรี
โดย นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้รับฟังผลการดำเนินงาน ความคิดเห็นและการสะท้อนปัญหาที่แตกต่างกันของในแต่ละจังหวัด ซึ่งทุกอย่างที่เป็นปัญหาจะนำเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อให้ได้รับการแก้ไข เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนและครู กระทรวงศึกษาธิการ ยุคนี้เป็นยุคที่เปิดใจรับฟังมากขึ้น เราพยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาเรื้อรังอย่างเต็มที่ อะไรที่ทำได้เราจะทำทันที ซึ่งตั้งแต่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และตนเข้ามาปฎิบัติหน้าที่รัฐมนตรีได้ 7-8 เดือนแล้ว ซึ่งนโยบายที่เราให้ไว้ตั้งแต่เข้าทำงานวันแรก คือ นโยบายลดภาระครูบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง เราก็ทำให้เห็นแล้วว่าเกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะการยกเลิกครูเวรโรงเรียน การเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา รวมถึงการอนุมัติงบฯจ้างนักการภารโรง ซึ่งไม่มีมานานแล้ว
รมช.ศธ. กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสถานีแก้หนี้ครูของเขตพื้นที่การศึกษา ก็ถือว่าดำเนินการได้ดี ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหลายแห่งได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ครูที่เป็นหนี้ด้วย ทั้งนี้ ครูที่เป็นหนี้ต้องเปิดใจเข้ารับการรักษา เหมือนคนป่วยจะได้รักษาอย่างถูกวิธี
นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่าสำหรับปัญหาการจัดการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กมีผลวิจัยของหลายหน่วยงานสอดรับกันว่า การอุดหนุนรายหัวในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กได้ ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเงินอุดหนุนรายหัวน่าจะช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ โดยอุดหนุนเงินก้อนให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กไปก่อนเป็นเบื้องต้นแล้วค่อยให้อุดหนุนเงินรายหัวตามไปอีกเพื่อให้ โรงเรียนมีเงินเพียงพอที่จะเป็นค่าใช้จ่ายค่าสาธารณูปโภค ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะประสานหารือกับสำนักงบประมาณก่อนหากคุยสำเร็จก็จะนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันกลุ่มเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย ได้รับเงินอุดหนุนค่อยข้างน้อย แต่ถ้ามองมุมกลับพัฒนาการของกลุ่มเด็กเล็ก ถือเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ซึ่งในประเด็นนี้รมว.ศธ.จึงมีแนวคิดที่จะปรับเงินอุดหนุนสำหรับเด็กปฐมวัยใหม่
“ส่วนนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ผมอยากให้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพจริงๆ ซึ่งผมคิดว่าหลักเกณฑ์การรับบุคลากรมาอยู่ในโรงเรียนคุณภาพ จะต้องให้มีการคัดคนคุณภาพตามไปด้วย และถ้าโรงเรียนมีคุณภาพได้ครบทุกอำเภอเราก็จะขยายไปถึงโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 จะเป็นการพลิกโฉมการศึกษาไทย ที่จะเริ่มการจัดแพลตฟอร์มเนื้อหาสาระการเรียนรู้ที่จะรองรับการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนของครูและนักเรียนในปี 2568 ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มบริษัทด้านไอทีระดับโลกให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมมือด้านการศึกษาในเรื่องดังกล่าว โดยการแจกอุปกรณ์เสริมการสอนที่ทันสมัยมาพร้อมกับการใช้งานระบบ Wi-Fi โดยที่ไม่เป็นภาระให้แก่โรงเรียน ซึ่งการแจกอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นระบบของการเช่า เพื่อไม่ให้เป็นภาระของโรงเรียนเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าก็สามารถคืนอุปกรณ์ได้ทันทีไม่กลายเป็นขยะไอที อย่างไรก็ตาม ผมขอฝากนโยบาย “สุขาดี มีความสุข”โดยขอให้สถานศึกษาทุกแห่งทำมาตรฐานห้องน้ำครู และห้องน้ำนักเรียนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ สะอาดปลอดภัยด้วย“ รมช.ศธ.กล่าว
14 พฤษภาคม 2567
ผู้ชม 434 ครั้ง