นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล เดินทางเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 112 และร่วมหารือกับประเทศสมาชิกประเด็นต่างๆในการเดินทางครั้งนี้ โดยค่ำวานนี้ ผมมอบหมายให้ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนร่วมหารือกับรัฐมนตรีแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของมาเลเซีย กับนาย สติเว่น ซิม ซี เคียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย ซึ่งหารือประเด็นการจัดตั้งกองทุนอาเซียน เป็นประโยชน์ในด้านการสร้างเครือข่ายการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานตลอดจนการพัฒนาทุนมนุษย์ในประเทศสมาชิกต่อไป
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การมารวมประชุมครั้งนี้ มีวาระเข้าพบ นายกิลเบิร์ท เอฟ โฮงโบ (Mr. Gilbert F. Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน
"กระทรวงแรงงานนำสัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 144 ที่ได้ผ่านครม. มาลงนามร่วมกันกับผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย มีสาระสำคัญแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ในการส่งเสริมการเจรจาทางสังคมและการปรึกษาหารือไตรภาคี ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดี และการหารืออย่างสร้างสรรค์ ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อมุ่งไปสู่ความยุติธรรมทางสังคม และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนในประเทศไทย"นายพิพัฒน์ กล่าว
ด้าน นายไพโรจน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานยึดมั่นในการทำงานของไตรภาคีเป็นหลัก เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดที่ผลักดันมาจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นการใช้กลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญ คือ การเจรจาต่อรอง ในรูปแบบไตรภาคี ที่ต้องมีผู้แทนทั้งสามฝ่าย เพื่อให้มีกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และเกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายต่อไป
นายประพันธ์ ปุษยไพบูลย์ ประธานสภาองค์การนายจ้าง การเกษตร ธุรกิจ อุตสาหกรรมไทย แถลงว่า คุณภาพชีวิตแรงงานที่ดียิ่งขึ้นภายใต้กรอบอนุสัญญาต่าง ๆ สิทธิและความเท่าเทียม และการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติ และที่สำคัญคือ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาคมโลก ซึ่งตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ต่างชื่นชมกระทรวงแรงงานของประเทศไทยว่าสามารถแก้ไขกฎหมายแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกทั้งเปิดโอกาสให้นายจ้างและเจ้าของกิจการ ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการทำงานร่วมกับลูกจ้างและรัฐบาล
14 มิถุนายน 2567
ผู้ชม 65 ครั้ง