วันที่ 15 สิงหาคม 2567 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ ผศ.ดร. วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เป็นผู้ลงนาม มีผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ผู้บริหารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมงาน ณ ห้องประชุมสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 16 นครปฐม
นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ส.ค. 67) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 16 นครปฐมและมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมาย และกลไกในการบูรณาการภารกิจร่วมกันด้านการจัดฝึกอบรมและส่งเสริมให้กำลังแรงงานนำประสบการณ์จากการฝึกอบรมฝีมือแรงงาน การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และประสบการณ์ทำงานมาเทียบโอนในระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อประโยชน์ในการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยจากการเทียบวุฒิ หรือการรับรองรับคุณวุฒิทางการศึกษาและการทำงาน โดยจะนำร่องเทียบโอนในระดับปริญญาตรีสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของไทย เนื่องจากไทยมีสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศมากมาย หากแรงงานได้รับการฝึกอบรม และมีวุฒิการศึกษาร่วมด้วย จะส่งผลให้แรงงานของไทยมีคุณภาพ และก้าวหน้าในหน้าที่การงานในด้านนี้มากขึ้น
นางสาวบุปผา กล่าวต่อว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ไม่เพียงแค่ส่งเสริมกำลังแรงงานในการนำประสบการณ์ทำงานมาเทียบโอนในระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เท่านั้น ยังร่วมกันส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาผู้ประกอบอาหารไทย และสาขาที่เกี่ยวข้องด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อรองรับการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่นักศึกษาหรือกำลังแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือสูงขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตกำลังคนทั้งภาคการศึกษา และภาคแรงงาน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพแรงงานเพื่อให้แรงงานทั้งระบบมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะฝีมือในทุกระดับอย่างมีมาตรฐาน ส่งเสริมให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ มีสวัสดิการ และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
"การดำเนินงานระบบเทียบโอนหน่วยกิตให้แก่แรงงานนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ " อธิบดีบุปผากล่าว
16 สิงหาคม 2567
ผู้ชม 55 ครั้ง