วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เวลา 14.00 น. นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวแถลงนโยบายกระทรวงแรงงานและแนวทางการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อสื่อมวลชน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า กระทรวงแรงงาน ได้ขานรับนโยบาย ปี 2568 ภายใต้การนำของท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งเน้นนโยบาย “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจ แรงงานไทยมั่นคง”ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงานของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน
นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า ตามที่ได้มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผมดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมานั้น ผมมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนภารกิจสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงานของพี่น้อง ผู้ทำงานทั่วประเทศ โดยนโยบายกระทรวงแรงงาน ปี 2568 จะถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความท้าทายด้านแรงงานในปัจจุบัน และส่งเสริมการสร้างระบบแรงงานที่มั่นคง มีประสิทธิภาพ และทันสมัย ผมจะใช้นโยบายกระทรวงแรงงาน ปี 2568 “หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นทักษะทันสมัย คนไทยมีงานทำ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เศรษฐกิจ แรงงานไทยมั่นคง” ภายใต้ การกำกับดูแลของท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นเข็มทิศในการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนกระทรวงแรงงานให้เป็น “ครอบครัวแรงงาน” เป็นที่ “ยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ” เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องแรงงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงาน นอกระบบ ผู้ประกอบการ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งผมจะดำเนินนโยบายหลักให้ทุกภาคส่วนได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์ที่เป็นธรรม
นายบุญสงค์ ยังกล่าวถึงมาตรการในการช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประสบอุทกภัยตามประกาศของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่า กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคม มีมติเห็นชอบ มาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ดังนี้
1) การลดอัตราเงินสมทบ ช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่งวดเดือนตุลาคม 2567 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2568 โดยอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 33 และนายจ้าง ลดจาก 5% เหลือ 3% และอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดจาก 9% เหลือ 5.9% (เหลือจ่ายสมทบเดือนละ 283 บาทต่อเดือน) ซึ่งสามารถลดภาระนายจ้างและผู้ประกันตน ได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7 พันกว่าล้านบาท จำแนกเป็น สมทบฝ่ายนายจ้าง ประมาณ 3,400 ล้านบาท และผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 จำนวนประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เคยจ่ายเงินสมทบ 750 บาท ต่อเดือน (คำนวณจากเงินค่าจ้าง 15,000 บาท) จะได้ลดอัตราเงินสมทบเดือนละ 300 บาท เหลือจ่ายสมทบเดือนละ 450 บาท รวม 6 เดือน ได้ลดเงินสมทบคนละ 1,800 บาท สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 39 จากเดิมจ่ายเงินสมทบเดือนละ 432 บาท จะได้รับการลดอัตราเงินสมทบเดือนละ 149 บาท รวม 6 เดือน ได้ลดเงินสมทบ 894 บาท
2) การขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบ โดยสำนักงานประกันสังคมขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 งวดกันยายน - งวดธันวาคม 2567 ให้นายจ้างสามารถนำส่งเงินสมทบได้ภายใน 4 เดือน นับจากงวดที่ต้องนำส่ง ตามมาตรการ เช่น งวดกันยายน 2567 สามารถนำส่งได้ภายในเดือนมกราคม 2568
3) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ. 2567 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน ในการเข้าถึงการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ลดภาระทางการเงินในการผ่อนชำระที่อยู่อาศัยและส่งเสริมความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประกันตน วงเงินสินเชื่อในโครงการ 10,000 ล้านบาท ครอบคลุม 72 จังหวัด โดยวงเงินสินเชื่อกระจายตามสัดส่วนของผู้ประกันตนที่มีสิทธิ ในแต่ละจังหวัด ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท
นายบุญสงค์ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่ผู้ประกันตน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมถึงพัฒนาสิทธิประโยชน์ โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (ชุดที่14) ครั้งที่ 11/2567 มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งมีบุตรตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จากเดิม 800 บาท เป็นเดือนละ 1,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนาม โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ทั้งนี้ ให้ปรับอัตราเหมาจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเป็นอัตรา 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคน สำหรับบุตรที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี และได้รับสิทธิคราวละไม่เกิน 3 คน
“ส่วนการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในระยะเร่งด่วนหลังน้ำลด จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ พะเยา สุโขทัย และน่าน กระทรวงแรงงานได้มีการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอาชีพ เพื่อประชาชน ที่ประสบ ความเดือดร้อนให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวในระหว่างที่ไม่มีรายได้ โดยการจ้าง ให้ทำงานที่เป็นงานสาธารณประโยชน์ และเป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยได้รับค่าตอบแทนจาก การทำงานวันละ 300 บาท ด้วย ซึ่งผมในฐานะปลัดกระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าผลักดันนโยบายให้พี่น้องแรงงานได้รับการคุ้มครองและการสนับสนุนที่เป็นธรรม และขอให้ ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมแรงงานที่เข้มแข็งและมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป” นายบุญสงค์ กล่าว
01 ตุลาคม 2567
ผู้ชม 74 ครั้ง