นักวิจัยวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มทร.ธัญบุรี สร้างผลงานการจัดการ ‘การติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน’ สามารถให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน 12 ประเภท ตามกฎกระทรวงควบคุมการปนเปื้อนฯ
ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนับวันยิ่งทวีความรุนแรง ส่วนหนึ่งจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐจึงได้มีการบังคับใช้กฎกระทรวงควบคุมการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน พ.ศ. 2559 โดยกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรม 12 ลำดับตามกฎหมาย ต้องมีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม มีการจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีและของเสียอันตราย กำหนดเกณฑ์การปนเปื้อน กำหนดทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน เพื่อติดตั้งบ่อสังเกตการณ์น้ำใต้ดิน และเก็บตัวอย่างดินและน้ำใต้ดิน เพื่อติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงานอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเฝ้าระวังการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ อาจารย์นักวิจัยประจำสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จึงได้ดำเนินโครงการ “การติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินบริเวณโรงงาน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistance Program: ITAP) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ล่าสุดได้นำไปจัดแสดงและนำเสนอรายละเอียดของการดำเนินโครงการดังกล่าวงานนวัตกรรมสร้างสรรค์ RT62 ที่หอประชุม มทร.ธัญบุรี
สำหรับการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินบริเวณโรงงาน มีลักษณะการดำเนินงานโดยการจัดการซึ่งมีวิธีการดำเนินงานที่สรุปได้ทั้งหมด 7 ขั้นตอน คือ (1) สำรวจกิจกรรม และจัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีและของเสียอันตราย (2) กำหนดจุดเก็บตัวอย่างและติดตั้งบ่อสังเกตการณ์น้ำใต้ดิน (3) กำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน (4) การแจ้งข้อมูล (5) การตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน (6) การจัดทำรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน และ (7) รายงานเสนอมาตรการควบคุมและมาตรการลดการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน (กรณีตรวจพบการปนเปื้อน)
ลักษณะของงานในโครงการมีจุดเด่นคือ ให้คำปรึกษา สำรวจโรงงาน และกำหนดจุดติดตั้งบ่อสังเกตุการณ์โดยทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นเป็นงานบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งทางผู้ประกอบการโรงงานหรือสถานประกอบการจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและตระหนักถึงปัญหาของการปนเปื้อนของสารพิษที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งสืบเนื่องมาจากกระบวนการผลิตของตนเองต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถการนำผลงานไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ก็คือ การให้คำปรึกษาได้ในกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจดทะเบียนโรงงานที่เข้าข่ายของ 12 ลำดับประเภทโรงงาน ตามกฎกระทรวงควบคุมการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน พ.ศ. 2559
ทั้งนี้ ในกฎกระทรวงนี้ ได้อธิบาย “การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน” ว่าเป็นการที่ดินและน้ำใต้ดินบริเวณโรงงานมีสารปนเปื้อนสะสมในปริมาณที่ไม่เหมาะแก่การดำรงชีวิต หรือมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย และสิ่งแวดล้อม ส่วน “การตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน” คือ การเก็บและการวิเคราะห์ตัวอย่างดินและน้ำใต้ดินบริเวณโรงงาน และการเปรียบเทียบค่าความเข้มข้นของสารปนเปื้อนที่ได้จากการเก็บ และการวิเคราะห์ตัวอย่างดินและน้ำใต้ดินกับเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน ส่วนคำว่า “เกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน” หมายถึง ระดับความเข้มข้นอ้างอิงของสารปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงานที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้จากการคำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และคำว่า “สารปนเปื้อน” คือสารเคมีหรือสิ่งอื่นใดที่ใช้หรือเก็บรักษาภายในบริเวณโรงงาน หรือเป็นของเสียภายในบริเวณโรงงาน ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัยและสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า จากการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินบริเวณโรงงาน ในกรณีที่พบการปนเปื้อนในเบื้องต้นจะต้องตรวจสอบหาแหล่งกำหนดเพื่อควบคุมหรือหยุดการแพร่กระจายของสารมลพิษ และควรฟื้นฟูคุณภาพดินและน้ำใต้ดินไปพร้อมกัน ในอนาคตจะต่อยอดและพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบเพื่อบำบัดและฟื้นฟูคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน ทั้งจากแหล่งกำเนิดและการขนย้ายไปบำบัดในพื้นที่อื่น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการติดตาม ตรวจสอบในครั้งนี้จะสามารถส่งผลให้เกิดความตระหนัก ความร่วมมือในทุกภาคส่วน ไม่เพียงแค่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในการรักษาและร่วมกันสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไป ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 085 427 9666
เรื่อง/อลงกรณ์ รัตตะเวทิน. มทร.ธัญบุรี.
30 กรกฎาคม 2562
ผู้ชม 752 ครั้ง