วันที่ 20 ธันวาคม 2562 นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เปิด “ใจดีฟาร์ม พนัสนิคม” ณ กลุ่มใจดีฟาร์ม เลขที่ 14 หมู่ที่ 7 ตำบลหมอนนาง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เยี่ยมองค์กรที่ส่งเสริมอาชีพปลูกเมล่อนให้กับกลุ่มคนพิการตามมาตรา 35 โดยมีนายนพลิศ เสริมศักดิ์ศศิธร นายกเทศมนตรีตำบลหมอนนาง กล่าวต้อนรับ นายสิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ จัดหางานจังหวัดชลบุรี และหน้าส่วนราชการในจังหวัดชลบุรี ร่วมให้การต้อนรับ
ส.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ได้เยี่ยมชม “ใจดีฟาร์ม พนัสนิคม” และนางไชยรัตน์ สัมพันธ์ ผู้สูงอายุที่พิการทางการได้ยิน ทำอาชีพจักสานตะกร้าจากใบตอกลำไผ่ขาย ซึ่งเป็นกิจกรรมอาชีพในชุมชน ที่สามารถแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ โดยในอนาคตจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์เป็นตะกร้าใส่เมล่อน ต่อไป พร้อมให้กำลังใจคนพิการ โดยได้ให้ข้อเสนอแนะและขอบคุณ ไมเนอร์กรุ๊ป ที่เห็นความสำคัญและประโยชน์ในการจ้างงานคนพิการ การนำโอกาสและทรัพยากรมาสนับสนุนการทำงานของคนพิการ สร้างโอกาสในการมีอาชีพและมีงานทำ ซึ่งสร้างผลกระทบในเชิงสังคมให้กับกลุ่มคนพิการ ในการตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง ลดภาระการพึ่งพา ได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นการคืนคนพิการเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
“การส่งเสริมอาชีพคนพิการเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนพิการให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นได้อย่างเข้มแข็งและมีความยั่งยืน การดำเนินงานของใจดีฟาร์มนั้นเป็นที่น่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นการดำเนินการโดยคนพิการที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย แต่กลับสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เมล่อนระดับคุณภาพออกสู่ตลาดที่เป็นตลาดระดับบน “เป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์จากผู้ที่ไม่สมบูรณ์” นอกจากนั้นการดำเนินงานของ “ใจดีฟาร์ม” ยังแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความร่วมมือกันของคนพิการในการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายใจดีฟาร์ม ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนพิการในหลายจังหวัด อีกทั้งใจดีฟาร์มยังมุ่งที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพทำให้เห็นถึงศักยภาพของคนพิการที่จะสร้างผลิตผลที่ดีสามารถแข่งขันในท้องตลาดได้” นางสาวอนุสรีฯ กล่าว
สำหรับ “ใจดีฟาร์ม พนัสนิคม” เป็นหนึ่งในเครือข่ายของ ใจดีฟาร์ม จากเครือข่าย 3 แห่งคือ จ.ชัยนาท จ.นครสวรรค์ และจ.ชลบุรี มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพและใช้สิทธิการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 35 เพื่อทำฟาร์มเมล่อน โดยกลุ่มฯ มีสมาชิก 13 คน ประกอบด้วยคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ พื้นที่ที่ก่อสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อน จำนวน 2 โรง และอาคารที่ทำการกลุ่ม ได้มีการทำทางลาดเพื่อความสะดวกในการทำงานของคนพิการ และสร้างห้องน้ำคนพิการ ด้านการพัฒนาศักยภาพคนพิการในด้านการผลิต กลุ่มมีการส่งสมาชิกไปศึกษาดูงานจากใจดีฟาร์มหันคา จ.ชัยนาท รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกเมล่อนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและฝึกการเพาะปลูกเมล่อนให้กับสมาชิก ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การดำเนินงานตามมาตรา 35 เป็นการนำเอาสิทธิคนพิการที่ได้รับการจ้างงานมารวมกัน ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันของคนพิการในการทำธุรกิจการเกษตร เมื่อกลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต รายได้ที่ได้รับจะมีการคิดคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิต เงินในส่วนของทุนจะเก็บไว้เพื่อการลงทุนต่อไป ในส่วนที่เป็นกำไรจะนำไปแบ่งปันเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกเท่าๆกัน สำหรับคนพิการที่มาทำงานในฟาร์มนอกจากเงินปันผลที่ได้รับตามสิทธิแล้วยังจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานด้วย ส่วนการดำเนินการส่งเสริมอาชีพแบบกลุ่มตามมาตรา 35 นั้น ได้ส่งเสริมให้คนพิการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง สร้างอาชีพและสร้างธุรกิจได้ในระยะยาวแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนตามาตรา 35 แล้ว ก็จะยังคงสามารถดำเนินการต่อได้ อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยให้คนพิการลดภาระของครอบครัวและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความภาคภูมิใจในตนเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
23 ธันวาคม 2562
ผู้ชม 621 ครั้ง