นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงแรงงาน ได้จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Administration Center)เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 สถานที่ตั้งอยู่ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี เพื่อให้บริการด้านข้อมูลแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ คุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการตรวจลงตราและอนุญาตทำงาน ในปี 2563 กระทรวงแรงงานยังคงขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าจัดหางานในกลุ่มอุตสาหกรรมปัจจุบัน 28,000 คน แนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษาทั้งผู้ที่จะศึกษาต่อและผู้ที่จบการศึกษาใหม่ 44,020 คน ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงาน 13,000 คน ซึ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 - มกราคม 2563 กรมการจัดหางานได้ดำเนินการจัดหางานในกลุ่มอุตสาหกรรมปัจจุบันแล้ว 4,215 คน แนะแนวอาชีพให้นักเรียนฯ 16,129 คน ตรวจลงตราและออกใบอนุญาตทำงาน 4,346 คน
ส่วน ผลการขับเคลื่อนในด้านอื่นๆนั้น สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ได้ฝึกยกระดับฝีมือแรงงานแล้ว 621 คน ในสาขาระบบอัตโนมัติ 364 คน สาขาหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 157 คน โปรแกรมการผลิต 20 คน อุตสาหกรรมการผลิต 80 คน ดำเนินการตามความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน 36 กิจกรรม มีการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานแล้ว 3,234 คน ตรวจแรงงานในระบบ 14,463 คน ตรวจและกำกับสถานประกอบการ 30,738 คน ให้คำปรึกษาแนะนำด้านสิทธิประโยชน์ 638,109 คน ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน 27,200 คน บริการผ่านระบบ E-service E-Payment Application 23,073 คน และผู้ประกันตนได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี 47,562 คน
“ศูนย์บริหารแรงงาน EEC เป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม ให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ ซึ่งจะนำมาสู่การจ้างงานจำนวนมาก โดยเฉพาะกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้น การที่นักเรียน นักศึกษาได้รับการแนะแนวอาชีพ และตัดสินใจเลือกเรียนในสายอาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานจะทำให้ได้รับการจ้างงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังทำให้นายจ้าง/ สถานประกอบการได้บุคลากรที่มีคุณภาพเข้าปฏิบัติงาน ซึ่งภารกิจดังกล่าวนี้เป็นภารกิจที่สำคัญของกรมการจัดหางาน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
18 กุมภาพันธ์ 2563
ผู้ชม 452 ครั้ง