สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ ร่วมมือ สาขาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สำรวจผลกระทบ การปรับตัว การมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือสังคม จากวิกฤติ COVID-19 ของนิสิตและนักศึกษา มหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 569 คน จาก 6 สถาบัน ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยทักษิณ 2. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) 3. มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา 4. มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 5. มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย และ 6.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา ในระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน 2563 พบว่าผลกระทบและการปรับตัวจากมาตรการระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค covid-19 ที่น่าสนใจ 8 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน 3 อันดับแรก คือ ความยากลำบากในการใช้ชีวิต 13.78% รองลงมา รายได้ลดลง 12.95% และเกิดความห่างเหินจากเพื่อนและคนรอบข้าง 11.57 %
ประเด็นที่ 2 ผลกระทบในด้านการเรียนหนังสือ 3 อันดับแรก คือ ไม่เห็นด้วยกับการเรียนออนไลน์เพราะประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่ดีเท่ากับการเรียนในชั้นเรียน 20.01% รองลงมาการเรียนการสอนออนไลน์ ขาดปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์ผู้สอน 19.63% และมีค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น เช่นค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ 14.80%
ประเด็นที่ 3 ผลกระทบด้านร่างกาย 3 อันดับแรก คือ ต้องเก็บตัวไม่ได้พบปะผู้คน 20.87 % รองลงมาทำให้ทำงาน/กิจกรรมต่าง ๆ ช้าลง 13.91% และนอนไม่หลับ 12.2 %
ประเด็นที่ 4 ผลกระทบด้านจิตใจ นิสิตและนักศึกษาตอบว่าเบื่อหน่าย 15.71 % รองลงมาวิตกกังวล 10.12 % และมีความเครียด 8.99 %
ประเด็นที่ 5 การปรับตัว 3 อันดับแรก เห็นว่าการหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลาย 20.27 % รองลงมาคิดว่าใช้ Social network ในการค้นข้อมูลและสื่อสาร 20.09 % และดูแลสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตตัวเองเสมอ 17.16 %
ประเด็นที่ 6 ความต้องการความช่วยเหลือ 3 อันดับแรก คิดว่าควรลด หรือแบ่งชำระค่าบำรุงการศึกษา 22.09 % รองลงมาควรสนับสนุนทุนการศึกษาและค่าครองชีพ 19.03 % และควรสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ 17.52%
ประเด็นที่ 7 ข้อเสนอแนะต่อการจัดการปัญหาของรัฐบาล 3 อันดับแรก 1) ให้นำเสนอข้อมูลที่แม่นยำเป็นเอกภาพ 21.42 % รองลงมาจัดทำและเผยแพร่สื่อป้องกันโควิด 19 พร้อมใช้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย 15.73% และควรมีบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ 15.67 %
ประเด็นที่ 8 การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในสถานการณ์ COVID-19 3 อันดับแรก คือ ร่วมให้กำลังใจกับผู้ได้รับผลกระทบ 26.93 % รองลงมาควรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐอย่างเคร่งครัด 23.95 % และ บริจาคเงิน สิ่งของ อาหาร คิดเป็น 17.64 %
จากการสำรวจผลกระทบของนิสิตและนักศึกษา 6 สถาบันในจังหวัดสงขลา ก็พอจะทำให้ทราบว่า นิสิตและนักศึกษามีความกังวลใจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดถึงการเรียนออนไลน์ ทำให้สภาพจิตใจมีความเบื้อหน่ายและวิตกกังวลทำให้เกิดความเครียดจึงอยากให้รัฐบาลจัดการปัญหาในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด19 โดยให้นำเสนอข้อมูลที่แม่นยำเป็นเอกภาพ และจัดทำเผยแพร่สื่อป้องกันโควิด 19 พร้อมให้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย และควรควรมีบริการให้คำปรึกษาออนไลน์ด้วย ในเรื่องการศึกษาในยุคโควิด นิสิตนักศึกษาอยากให้ลด หรือแบ่งชำระค่าบำรุงการศึกษา และทางมหาวิทยาลัยหรือสถาบันควรสนับสนุนทุนการศึกษาและค่าครองชีพตลอดถึงอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ด้วย
08 กรกฎาคม 2563
ผู้ชม 984 ครั้ง