คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่งมอบหุ่นยนต์ส่งของสำหรับผู้ป่วย COVID-19 (น้องกระติ๊บ) , หุ่นยนต์คัดกรองอัจฉริยะสำหรับตรวจวัดอุณหภูมิ และ อุปกรณ์เสริมควบคุมระยะไกลสำหรับเครื่อง Infusion Pump ให้กับโรงพยาบาลมหาสารคาม เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และลดการสัมผัสโดยตรงในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งออกแบบและจัดสร้างโดย อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีนายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิ์ศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลร่วมรับมอบ ณ ห้องประชุมจัมปาศรี ชั้น 4 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาสารคาม
รองศาสตราจารย์ ดร. เกียรติศักดิ์ ศรีประทีป คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า จากกรณีสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ “น้องกระติ๊บ” สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ในการช่วยส่งของเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยมี อาจารย์คเณศ ถุงออด เป็นผู้นำทีมพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าว โดยขนาดของตัวหุ่นกว้าง 330 ยาว 360 สูง 1510 มิลลิเมตร มีการเคลื่อนที่โดยใช้ล้อ ปรับความเร็วในการเคลื่อนที่ได้โดยมีความเร็วสูงสุด 20 เซนติเมตรต่อวินาที เคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ต่างระดับความสูงไม่เกิน 10 มิลลิเมตร มีการควบคุมและมองภาพไร้สายระยะไกลผ่านรีโมทระยะไม่น้อยกว่า 500 เมตร มีจอแสดงภาพด้านหน้าของหุ่นยนต์ส่งสัญญาณไร้สายมาที่ผู้บังคับ มีถาดสําหรับส่งอาหารและยา สามารถจับรถเข็นขนาด 40 x30 เซนติเมตร สำหรับลําเลียงสิ่งของเช่น เสื้อผ้า ของใช้ พร้อมทั้งมีหลอด UVC ใช้สําหรับฆ่าเชื้อโรค ในรถเข็น สิ่งของรัศมี 1.5 เมตร หรือตัวหุ่นยนต์ (หลอด UV 40W จํานวน 2 หลอด) ตลอดจนสามารถสื่อสารพูดคุยทางไกลได้ผ่านแท็ปเล็ต
นอกจากนี้ ยังได้มอบหุ่นยนต์คัดกรองอัจฉริยะ สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิ ผลงานของอาจารย์ปริญญ์ ชุปวา เพื่อใช้ตรวจคัดกรองเบื้องต้นวัดค่าอุณหภูมิและแสดงข้อมูลบนหน้าจอ สามารถพูดโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้
และมอบอุปกรณ์เสริมควบคุมระยะไกลสำหรับเครื่อง Infusion Pump ออกแบบนวัตกรรมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสิน กาญจนวนิชกุล อุปกรณ์เสริมนี้สามารถติดตั้งร่วมกับเครื่อง Infusion Pump ที่มีอยู่ในโรงพยาบาล ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถปรับค่าอัตราการไหลได้ในระยะไกลด้วยสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งสามารถมองเห็นหน้าจอและการแจ้งเตือนของเครื่อง Infusion Pump บนหน้าจอของสมาร์ทโฟน ทำให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
22 กรกฎาคม 2563
ผู้ชม 573 ครั้ง