ปัจจุบันพบมลภาวะจากคาร์บอนเกิดขึ้นในพื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยาในปิริมาณสูง ส่งผลกระทบต่อโบราณสถานโดยตรง และพบว่าโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือกำมะถันสูง และยังตรวจพบว่ามีซัลเฟอร์สะสมที่อิฐของโบราณสถานในปริมาณสูงเช่นกัน ก๊าซที่รวมตัวกันเป็นกำมะถันจะกัดกร่อนอิฐและโครงสร้างโบราณสถาน ทำให้เกิดสนิมเขียว โดยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่พบมากในบรรยากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง อุตสาหกรรม ครัวเรือน และจากธรรมชาติ และไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซดังกล่าว
การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมลภาวะจากคาร์บอน เราจึงต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขและลดปัญหาดังกล่าว โดยการวางแผนและพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ เราจะตระหนักและรับมือสถานการณ์อย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม ประเด็นนี้จึงเป็นหัวข้องานวิจัยที่มีความสำคัญที่นักวิจัยด้านการท่องเที่ยวต้องค้นหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาในแหล่งท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางแล้วจะรองรับและออกแบบกิจกรรมอย่างไรเพื่อให้กระทบกับโบราณสถานน้อยที่สุด และลดปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งต้องมีการประเมินเขตคุ้มครองของมรดกโลก ควบคู่กับความแตกต่างทางการท่องเที่ยว
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนรัตน์ รัตนพงศ์ธระ อาจารย์นักวิจัยสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ กล่าวว่า “โบราณสถานจะได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้นและเกิดความเสื่อมโทรม โครงสร้างเสียหายจนยากแก่การบูรณะให้กลับมามีสภาพ ที่สมบูรณ์ดังเดิม จึงได้ศึกษาถึงผลกระทบทางมลภาวะจากคาร์บอนในการท่องเที่ยวพื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา เพื่อหาแนวทางลดปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น จากการวิจัย พบว่า ผลกระทบจากมลภาวะคาร์บอนในการท่องเที่ยวพื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา เกิดจากการใช้ยานพาหนะจราจรคับคั่งส่งผลให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ของยานพาหนะส่งผลกระทบต่อโบราณสถานโดยตรง แนวทางการจัดการเพื่อลดผลกระทบทางมลภาวะจากคาร์บอนในการท่องเที่ยวพื้นที่มรดกโลกพระนครศรีอยุธยา แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.) แนวทางด้านกิจกรรมการท่องเที่ยว ได้แก่ การลดควันธูปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมท่องเที่ยวทางน้ำ กิจกรรมขี่จักรยานตามเส้นทางประวัติศาสตร์ กิจกรรมการพายเรือชมเมือง การนั่งรถสามล้อ 2.) แนวทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนารถไฟความเร็วสูง การพัฒนาการคมนาคมในเกาะเมือง การพัฒนาเส้นทางจักรยานหรือรถบริการเที่ยวชม การพัฒนาพื้นที่สีเขียว การพัฒนาคูคลองโบราณ 3.) แนวทางด้านการบริหาร ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการแบบบูรณาการ การวางนโยบายระดับจังหวัด การสร้างความร่วมมือกับภาคธุรกิจ
ดังนั้น การพัฒนาการท่องเที่ยวจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีการบูรณาการกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการส่งเสริมและแก้ปัญหาทางการท่องเที่ยว ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงอย่างแท้จริง ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีจุดอ่อนที่หลายฝ่ายวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อมคือการมีนิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศไทย แต่ในทางตรงกันข้ามเป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่าเราจะนำประเด็นนี้มาเป็นจุดแข็งได้อย่างไร การศึกษาวิจัยในครั้งนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบในหลายด้าน เพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน อยู่บนพื้นที่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดมลภาวะทางอากาศที่จะส่งผลกระทบกับมรดกโลก โดยหน่วยงานระดับจังหวัดนำไปเป็นแนวทางดำเนินการต่อไป
28 สิงหาคม 2563
ผู้ชม 867 ครั้ง