วันนี้ (29 ตุลาคม 2563) ณ บริษัท แคนาเดียน โซลาร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดชลบุรี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส) โดยคณะวิทยาศาสตร์ จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ“การพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตร่วมกับภาคอุตสาหกรรม” ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับ บริษัท แคนาเดียน โซลาร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงนามร่วมกับ นายเจิน เฟย กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคนาเดียน โซลาร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด มี ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนางศรีวิภา ทับทิมทอง ผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท แคนาเดียน โซลาร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามเป็นพยาน
การลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ และเพื่อให้นิสิตสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ภายใต้การแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ และยังเป็นการฝึกให้นิสิตได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร และระบบการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งไม่สามารถหาได้ในห้องเรียนหรือห้องทดลอง
ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีนโยบายในการพัฒนาหลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ จึงได้ประสานงานขอความร่วมมือกับ บริษัท แคนาเดียน โซลาร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ พลังงานแสงอาทิตย์ ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีชื่อเสียง ในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับทศวรรษใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริงในโลกปัจจุบัน โดยคำนึงถึงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การออกแบบหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ในการผลิตบัณฑิตในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการจัดทำบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญการผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม การได้มาซึ่งบัณฑิตดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัย (Industry-University Cooperation) การออกแบบโครงสร้างหลักสูตรสำหรับทศวรรษใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพการทำงานจริง ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บัณฑิตใหม่ต้องมีความชำนาญ สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ในวิชาชีพพื้นฐาน และวิชาชีพเฉพาะ นอกเหนือจากรายวิชาที่อยู่ในหลักสูตรแล้ว สิ่งที่จำเป็นสำหรับบัณฑิตใหม่ที่ต้องการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม คือความพร้อมในการทำงาน
ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นมิติใหม่สำหรับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำทางด้านการผลิตโซลาร์เซลล์ มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพและเกิดประโยชน์ในการพัฒนาคน พัฒนาประเทศต่อไป
30 ตุลาคม 2563
ผู้ชม 1323 ครั้ง