25 พฤศจิกายน 2567

ข่าวประกาศ

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2565 สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ รับสมัครบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล รับสมัครบุคคลเป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565 กรมทางหลวง รับสมัครเข้ารับราชการ จำนวน 6 ตำแหน่ง สมัครตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ - 14 มีนาคม 2565 กรมสรรพสามิต รับสมัครบุคคล (คนพิการ) เป็นพนักงานราชการทั่วไป จำนวน 6 อัตรา สมัครตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2565

ดูบทความการระงับข้อพิพาทในคดีครอบครัว

การระงับข้อพิพาทในคดีครอบครัว

หมวดหมู่: การศึกษา

 

 

 

 

 

ผศ.ทัชชภร มหาแถลง

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ ม.ศรีปทุม

 

ในกระบวนการยุติธรรมสำหรับคดีครอบครัวมิได้มีเพียงแต่การฟ้องคดีเพื่อตัดสินข้อขัดแย้ง หรือข้อพิพาทได้ หากแต่ยังมีกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในหลายรูปแบบที่สามารถช่วยให้คู่พิพาทได้เลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาท อีกทั้งยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดี ตกลงกันอย่างฉันท์มิตรและสร้างความเข้าใจให้กันได้ การระงับข้อพิพาททางเลือก  จะเริ่มต้นจากการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นกระบวนการแรกสุดเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างตัวบุคคล แต่หากการพูดคุยทั้งสองฝ่ายไม่เป็นผลจึงอาจต้องมีบุคคลที่สามที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับเข้าช่วยเป็นตัวกลางประสานให้ทั้งสองฝ่ายบอกความต้องการและมุ่งหาทางออกร่วมกัน  กระบวนการระงับข้อพิพาทดังกล่าวนี้เรียกว่า การไกล่เกลี่ย หรือการประนอม สำหรับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในครอบครัวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงควรเป็นไปด้วยความเข้าใจและรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อกันให้ได้มากที่สุด โดยที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้กำหนดเกี่ยวกับกระบวนการประนอมไว้ในหมวด 13 การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัว เพื่อให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมในข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันของครอบครัวเป็นหลัก 

 

วิวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมีวิธีการ  ดังต่อนี้

  1. การเจรจาต่อรอง (Negotiation) เป็นวิธีการระงับข้อพิพาททางเลือกหนึ่งซึ่งถือเป็นวิธีการพื้นฐานที่สุดในการสื่อสารโดยตรงระหว่างคู่ขัดแย้งที่สมัครใจจะแก้ปัญหาระหว่างกันด้วยการพูดคุยบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงความต้องการ หลักในการเจรจาต่อรองมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง เพื่อสร้างข้อตกลงระหว่างหลายฝ่าย เพื่อต่อรองเงื่อนไข หรือสนองต่อความพึงพอใจต่างๆ ทั้งนี้ การเจรจายังส่งผลต่อการรักษาความสัมพันธ์ขอคู่กรณีได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการเจรจาต่อรองจะมุ่งหมายให้ทั้งสองฝ่ายยอมโอนอ่อนให้แก่กันด้วยความสมัครใจและยังทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกพึงพอใจกับผลของการเจรจา ในการเจรจานั้นจำเป็นต้องใช้หลักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เกี่ยวข้อง โดยใช้การทำให้เกิดการยอมรับด้วยเหตุผล การมีความตั้งใจที่จะมีการสื่อสารที่ดีระหว่างกัน คือ การวิเคราะห์ข้อมูล การวางแผนเจรจาต่อรอง การนำเสนอ และการปรึกษาหารือร่วมกันด้วย
  2. การไกล่เกลี่ยหรือการประนอม (Mediation or Conciliation) คือ กระบวนการยุติหรือระงับข้อพิพาทด้วยความตกลงยินยอมของคู่ความเอง โดยที่มีบุคคลที่สามคือผู้ไกล่เกลี่ยมาเป็นคนกลางคอยช่วยเหลือแนะนำ เสนอแนะหาทางออกในการยุติ หรือระงับข้อพิพาทให้คู่ความต่อรองกันได้สำเร็จ เป็นกระบวนการหนึ่งที่สนับสนุนและสร้างบรรยากาศฉันท์มิตร รวดเร็ว รักษาความสัมพันธ์และความลับของคู่กรณี
  3. อนุญาโตตุลาการ (Arbitration) เป็นการระงับข้อพิพาททางแพ่งที่คู่กรณีตกลงกันเสนอข้อพิพาทของตนที่เกิดขึ้นแล้ว หรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้บุคคลภายนอกซึ่งเรียกว่าอนุญาโตตุลาการให้ทำการพิจารณาชี้ขาด โดยมีกระบวนพิจารณาตามกฎหมายและคู่กรณีผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คำชี้ขาดที่ออกมานั้นมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย
  4. การฟ้องคดี (Prosecution) คือ คดีแพ่งที่ฟ้องหรือร้องขอต่อศาลหรือกระทำการใด ๆ ในทางศาลเกี่ยวกับผู้เยาว์ หรือครอบครัวที่ว่าด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5

 

คดีครอบครัวที่สามารถใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ จะเป็นคดีที่เกี่ยวกับการฟ้องหย่า การแบ่งสินสมรส เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู อำนาจปกครองบุตร การเรียกค่าทดแทนหรือเรียกค่าเลี้ยงชีพ (เพราะเหตุแห่งการหย่า) หรือขอให้รับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีครอบครัวเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทที่สำคัญที่มาช่วยกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีที่ต้องใช้เวลา เสียค่าใช้จ่ายมากและทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวถดถอย กฎหมายเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญและมีความละเอียดอ่อน ซึ่งบิดา มารดา และบุตรไม่สามารถตัดขาดจากกันได้โดยสิ้นเชิง รวมทั้งตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีการพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 จึงกำหนดให้ก่อนเริ่มการพิจารณาคดีครอบครัวที่มีข้อพิพาทให้ศาลตั้งผู้ประนีประนอมคดีครอบครัว เพื่อไกล่เกลี่ยให้คู่ความในคดีครอบครัวได้ประนีประนอมกันและมีโอกาสเจรจาและตกลงระงับข้อพิพาทด้วยการประนีประนอมยอมความ โดยมีผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวเป็นคนกลาง  ผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนอม ได้แก่ ผู้พิพากษาในศาลต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน รวมทั้งบุคคลหรือคณะบุคคลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการไกล่เกลี่ยและแต่งตั้งให้เป็นผู้ประนีประนอมประจำศาลซึ่งเป็นผู้ที่มีความพร้อมและสมัครใจที่จะทำหน้าที่ ต้องมีความเป็นกลาง ไม่อคติ และสามารถให้ความเป็นธรรมกับคู่ความได้ถูกต้องตรงตามความประสงค์ ช่วยแก้ไขปัญหาเพื่อให้ข้อพิพาททั้งหลายยุติลงอย่างฉันมิตร หน้าที่หลักคือให้มีการประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่มีหน้าที่ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทนั้นๆ

 

การไกล่เกลี่ยคดีครอบครัวในศาลเยาวชนและครอบครัวแบ่งเป็นสองขั้นตอน คือ

  1. การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีต่อศาลคู่ความร้องขอให้ศูนย์ไกล่เกลี่ยเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ยให้ซึ่งการไกล่เกลี่ยเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หากสำเร็จจะจดทำบันทึกข้อตกลงให้แก่คู่ความมีผลเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
  2. การไกล่เกลี่ยหลังฟ้องศาล คู่ความสามารถไกล่เกลี่ยได้ทั้งวันนัดก่อนพิจารณาครั้งแรก หรือระหว่างการพิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา หากสำเร็จจะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเช่นกันซึ่งถือว่าเป็นคำพิพากษาตามยอมมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย

 

สำหรับระยะเวลาในการไกล่เกลี่ยนั้น ขึ้นอยู่กับคู่พิพาทว่าสามารถไกล่เกลี่ยกันได้หรือไม่ โดยเฉลี่ยหากคู่พิพาทสามารถตกลงกันได้ง่ายนั้น การไกล่เกลี่ยจะใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ไกล่เกลี่ยประจำศูนย์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการเข้าสู่กระบวนการทางศาลย่อมประหยัดเวลา ลดภาระค่าใช้จ่าย และคู่พิพาทมีสัมพันธ์ที่ดีกันต่อในอนาคตได้

สำหรับผลของการไกล่เกลี่ยนั้น  หากเป็นกรณีที่การไกล่เกลี่ยประสบผลสำเร็จ มีการถอนฟ้อง หรือคู่ความประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ให้ผู้ประนีประนอมคดีครอบครัวจัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นและเสนอศาลเพื่อพิจารณา เมื่อศาลเห็นว่าสัญญาดังกล่าวไม่ฝ่าฝืน หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งยังมีกรณีที่ศาลอาจจะไม่พิพากษาแต่กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้คู่ความทดลองปฏิบัติตามสัญญาก่อนก็สามารถทำได้ เช่น การกำหนดเงื่อนไขให้คู่พิพาทฝ่ายบิดา รับผิดชอบจ่ายเงินค่าเทอมบุตรในการศึกษาติดต่อกันเป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น โดยหากคดีครอบครัวนั้นๆ ผู้เยาว์มีประโยชน์ หรือมีส่วนได้เสียให้ศาลคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เยาว์เป็นสำคัญ  แต่หากกรณีที่คู่ความไม่อาจตกลงกันได้ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ข้อดีสำคัญของวิธีการไกล่เกลี่ยคือ สามารถรักษาความลับของคู่พิพาทได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการระงับข้อพิพาทเป็นตัวของคู่พิพาทเองและบุคคลภายนอกจะมีเพียงแต่ผู้ไกล่เกลี่ยเท่านั้น ซึ่งโดยจรรยาบรรณแล้วไม่สามารถนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยต่อบุคคลอื่นได้ซึ่งเหมาะกับลักษณะของคดีครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง  หัวใจของคดีครอบครัว คือ ความสงบสุขของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว มุ่งคุ้มครองสถานภาพการสมรสให้คงอยู่ แต่หากจำเป็นต้องมีการหย่าร้างต้องให้เป็นการหย่าเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องของสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นหลัก ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่าการเลือกใช้วิธีการฟ้องคดีควรเป็นวิธีการสุดท้ายที่คู่พิพาทจะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา การนำการระงับข้อพิพาททางเลือกที่เรียกว่า การไกล่เกลี่ยหรือการประนอมมาใช้จะมีความเหมาะสมกว่า ด้วยกระบวนการที่รักษาความลับและมุ่งประสานความสัมพันธ์ให้จบด้วยความเข้าใจและยอมรับในสิ่งแต่ละฝ่ายร้องขอ แม้ผลลัพธ์จะออกมาว่าฝ่ายใดได้ประโยชน์มากหรือน้อยแต่ขอให้มั่นใจว่าทุกคนตั้งใจที่จะเลือกรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวคงอยู่มากกว่าเลือกที่จะให้ตนเองชนะแต่เพียงอย่างเดียว บางครั้งการไกล่เกลี่ยอาจประสานรอยร้าวในความสัมพันธ์ให้กลับมาดีดังเดิมได้ด้วย

 

 

 

16 พฤศจิกายน 2563

ผู้ชม 2240 ครั้ง

Engine by shopup.com