ที่บริเวณโครงการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน (เขตพื้นที่ขามเรียง) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) โดยกองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว ประจำปี 2563 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมนำ ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นิสิตร่วมสืบสานประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นรากฐานของคนไทยให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นข้าวหอมมะลิ105 ที่มีคุณสมบัติทนแล้งได้ดี เมล็ดข้าวสารใส หุงต้ม อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว และดินเค็มบนพื้นที่ 4.5 ไร่
ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่าการจัดกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวในวันนี้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ ระหว่าง คณาจารย์ บุคลากร และนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งตามปกติแล้ว ในทุกๆ ปีจะจัดกิจกรรมด้วยความคึกคัก มีบุคลากรนิสิตเข้าร่วมจำนวนมาก แต่งชุดแฟนซีสวยงาม พร้อมเต้นและฟ้อนรำตามจังหวะเสียงกลองยาวด้วยความสนุกสนาม แต่ในปีนี้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม งดเว้นกิจกรรมดังกล่าว จัดงานด้วยความพอดี พอเพียง เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
สำหรับโครงการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีพื้นที่ 15 ไร่ หวังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีแปลงเกษตรสาธิต สำหรับนิสิต บุคลากรมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไป เพื่อการศึกษาเรียนรู้ผลผลิตปลอดสารพิษ ตั้งอยู่บริเวณหลังโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ขามเรียง) ได้แบ่งพื้นที่ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 คือ
ส่วนที่ 1 (พื้นที่ 30%) ได้ขุดสระน้ำ เพื่อเลี้ยงปลา พืชน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ซึ่งบริเวณขอบสระ จะดำเนินการปลูกหญ้าแฝกช่วยยึดเกาะหน้าดินป้องกันการพังทลายของดิน
ส่วนที่ 2 (พื้นที่ 30%) ปลูกข้าวนาปี และปลูกพืชหลังนา ปอเทือง ข้าวโพด และทานตะวัน ในส่วนของแปลงนาได้วางระบบน้ำ ขุดคลองไส้ไก่โดยรอบ สามารถเลี้ยงปลาในคลองได้ด้วย
ส่วนที่ 3 (พื้นที่ 30%) ปลูกไม้ผลยืนต้นเป็นพืชหลัก ปลูกพืชไร่ พืชผักปลอดสารพิษ และปลูกพืชอายุสั้นหมุนเวียนมีจำหน่ายตลอดทั้งปี
และส่วนที่ 4 (พื้นที่ 10%) สร้างที่พัก ศูนย์ประชุมขนาดเล็ก เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนต่างๆ เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ พลังงานทดแทน การปศุสัตว์ ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน โดยมีแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานการเรียนรู้
01 ธันวาคม 2563
ผู้ชม 817 ครั้ง