“จงรักษาศิลปะของชาติอันนี้ไว้ให้ดี” พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรตรัสแก่นายจงรักษ์ มณีสุข ครูใหญ่โรงเรียนศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 ซึ่งปัจจุบัน คือ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช เป็นหนึ่งในสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกใน พระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2563 จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ บริเวณถนนสนามไชย และมิวเซียมสยาม โดยวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ได้นำครู อาจารย์และนักศึกษาช่างฝีมือร่วมสาธิตการทำเครื่องประดับเงินโบราณ เครื่องถม งานสลักดุนโลหะซึ่งจัดอยู่ในโซน “วัยใส ปล่อยพลัง ปังสุดใจ” ภายในบริเวณมิวเซียมสยาม และกิจกรรมที่น่าสนใจคือการสาธิตการทำเม็ดนะโม เครื่องรางของขลังของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เป็นกระแสฮิตโด่งดังและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
นายพีรณัฐ เสือแก้ว นักศึกษาชั้น ปวช.2 ประเภทวิชาศิลปกรรม สาขางานศิลปหัตถกรรมรูปพรรณ เครื่องถม และเครื่องประดับ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช เล่าว่า “หัวนะโม” เป็นเครื่องรางของขลังของมงคล มีความศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวนครฯ รู้จักกันดี โดยเชื่อว่ามีพุทธคุณครอบจักรวาล คือทั้งด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ และป้องกันภัยแคล้วคลาด ซึ่งตนได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาที่มียาวนานกว่า 700 ปีและวิธีการทำจากครูทศพร ถังมณี ครูผู้สอนสาขางานศิลปหัตถกรรมรูปพรรณ เครื่องถม และเครื่องประดับ โดยหัวนะโม คือ เม็ดโลหะที่เป็นเบี้ยใช้แทนเงินตราไว้แลกเปลี่ยนสินค้าในอดีต ที่เรียกว่าหัวนะโมเนื่องจากมีลักษณะเป็นเม็ดกลม มีอักษรปัลลวะหรืออักษรอินเดียโบราณจารึกไว้ โดยคำว่า นอโม หรือ นะโม มาจากคำว่า “นมะ” หรือ “นมัส” เป็นคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้า ส่วนสัญลักษณ์ของนะโมในตอนนั้นคืออักษร ปัลลวะทางศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายซึ่งเป็นอักษรและอักขระที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นต้นแบบของภาษาขอม อันศักดิ์สิทธิ์ของเขมรลัทธิไศวนิกาย โดยลายของหัวนะโมที่เป็นลายโบราณ มีอยู่ 2 ลาย คือ ลายดอกจันและลายขีด ซึ่งขั้นตอนการทำเม็ดนะโมเริ่มจากกำหนดอัตราส่วนของเงินตามขนาดของเม็ดนะโมที่ต้องการ นำเงินที่ได้กำหนดอัตราส่วนใส่ลงในไม้ไผ่สดผ่าซีก แล้วใช้ตะเกียงเป่าให้ความร้อนจนเงินละลายกลายเป็นเม็ดกลม นำเม็ดเงินใส่น้ำกรดเจือจาง แล้วล้างน้ำสะอาด จากนั้นนำเม็ดเงินใส่หลุมทองเหลืองตามขนาดของเม็ดเงิน ใช้เหล็กตรานะโมตอกลงไปบนเม็ดเงินโดยใช้ค้อนแผ่เป็นตัวตอก จากนั้นกลับด้านหลังของเม็ดเงินตอกลายดอกจันหรือลายขีดซึ่งเป็นลายโบราณ (ลายด้านหลังขึ้นอยู่กับตระกูลร่างที่จัดสร้างเม็ดนะโม) สุดท้ายใช้เหล็กตรานะโม ตอกย่ำรอยตรานะโมที่ตอกครั้งแรกให้มีความคมชัด ก็จะได้หัวนะโม ซึ่งเคล็ดลับที่เป็นศาสตร์ภูมิปัญญาชาวบ้านคือการหลอมเม็ดนะโมบนไม้ไผ่สดผ่าซีก เพราะด้านในของไม้ไผ่สดจะมีน้ำเมื่อใช้ตะเกียงเป่าให้ความร้อน น้ำก็จะช่วยหล่อเลี้ยงให้เงินละลายกลายเป็นเม็ดนะโมที่มีลักษณะกลมเนียนสวย ปัจจุบันหัวนะโมปรับเปลี่ยนจากเงินตราเป็นเครื่องรางของขลังที่พัฒนาเป็นเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ จี้และกำไล เป็นต้น
“ ทั้งนี้ วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ได้เปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษาใหม่ปีการศึกษา 2564 ในระดับปวช.ได้แก่ สาขาศิลปหัตถกรรมรูปพรรณ เครื่องถมและเครื่องประดับ สาขาวิจิตรศิลป์ สาขาการออกแบบ สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาการถ่ายภาพและมัลติมีเดีย สาขาการบัญชี สาขาการตลาด และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ และระดับปวส. ระบบทวิภาคี ได้แก่ สาขาศิลปหัตถกรรมรูปพรรณ เครื่องถมและเครื่องประดับ สาขาวิจิตรศิลป์ สาขาดิจิทัลกราฟิก สาขาการบัญชี สาขาการตลาด และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 075-846-007 วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ซอยหอไตร ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช” เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเชิญชวน
#วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช #เม็ดนะโม #เครื่องประดับของขลังเมืองนครฯ #สืบสานรักษาศิลปะของชาติไทย #สมัครด่วน
ภาวิณี หมู่ศิริเลิศ : ข่าว / พัชรากร บ่อคำเขียว : ภาพ
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
20 ธันวาคม 2563
ผู้ชม 2140 ครั้ง