มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภมิ ส่งเสริมสนับสนุนนักวิจัยในการดำเนินงานวิจัยด้านการบูรณาการพื้นที่กับชุมชนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเกษตร โดยได้นำเทคโนโลยีไปส่งเสริมและพัฒนาการทำการเกษตรให้กับเกษตรกร และจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างระบบโรงเรือนอัจฉริยะให้กับชุมชนและสถานศึกษา ซึ่งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมการเกษตรจะช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกษตรกรสามารถปรับการใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ สภาพฤดูกาลที่มีความแม่นยำสูง และตรวจสอบความต้องการของพืชและสัตว์ ลดการสูญเสียของผลผลิต
อาจารย์วิชัย นระมาตย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า ได้นำเทคโนโลยีไปส่งเสริมและพัฒนาการทำการเกษตรให้กับเกษตรกรในอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างผลกำไรสูงสุด ให้กับเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยและผักอินทรีย์ และขยายผลต่อ โดยจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างระบบโรงเรือนอัจฉริยะ ให้กับโรงเรียนบ้านเกริง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นการนำเทคโนโลยีระบบสมาร์ทฟาร์มคิทมาใช้ในแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรือนที่ไม่เหมาะสมและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช พบว่าผลิตผักปลอดภัยและผักอินทรีย์มีผลผลิตเพิ่มจากเดิม 3 รอบ เป็น 5 รอบ/ปี ระยะเวลาในการเจริญเติบโตจากเดิม 40 - 45 วัน เหลือเพียง 30-35 วัน ผลผลิตที่ได้ 250 กิโลกรัม/ 1 รอบ ราคาผักอิทรีย์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 150 บาท เฉลี่ยรายได้ (250 กิโลกรัม x 150 บาท x 5 รอบ=187,500 บาท)/ปี และการแปรรูป เช่น แบ่งขายปลีก การทำสลัดผัก เฉลี่ยวันละ 700 บาท โดยขายสัปดาห์ละ 5 วัน (700 บาท x 20 วัน x 5 รอบ) =70,00 บาท ) รวมรายได้จากการขายผักปลอดภัย/ ผักอินทรีย์ และการนำมาแปรรูปขาย มีรายได้เฉลี่ยต่อปี 257,500 บาท สามารถลดต้นทุนการผลิตและสร้างผลกำไรได้เพิ่มขึ้น เป็นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อยกระดับสู่ (Smart Farmer / Smart Farming) และการพัฒนามาตรฐานฟาร์มเพื่อผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) จากสินค้าเกษตรได้อย่างยั่งยืน
28 มกราคม 2564
ผู้ชม 717 ครั้ง