สสว.จับมือหน่วยร่วม มทร.ธัญบุรี ตบเท้าเข้าร่วม ปีที่5 คาดช่วยเอสเอ็มอีได้ 3,700 ล้านบาท 68 เปิดเวทีชี้แจงการดำเนินงานช่วยผู้ประกอบการ ปี 64 มุ่งเน้น 3 เป้าหมาย เพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ดันเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน ผ่านกองทุนฯ และเครือข่ายหน่วยร่วมดำเนินการ เปิดตลาดเจาะกลุ่มภาคกลางและปริมณฑล
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า สสว. จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงาน การเบิกจ่ายงบประมาณและการติดตามการดำเนินงานโครงการ ปีงบประมาณ 2564 แก่หน่วยร่วมดำเนินการให้ได้ทราบถึงทิศทางการดำเนินงาน โดยในปี 2564 จะมุ่งเน้น 3 เป้าหมายหลัก คือการเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน การเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน ทั้งผ่านกองทุน สสว. และเครือข่ายพันธมิตร ซึ่งคาดว่า การดำเนินงานในปี 2564 จะสามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 3,700 ล้านบาท โดยผ่านความร่วมมือของหน่วยร่วมดำเนินงานของ สสว. ซึ่งจะพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการได้ครบในทุกมิติ
ผอ. สสว. ยังกล่าวอีกว่า สสว. ได้จัดทำโครงการ SME Academy 365 เป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจ ได้เรียนรู้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจได้ตลอด 365 วัน พร้อมเปิดให้บริการในรูปแบบเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์มใหม่ รวมองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อเอสเอ็มอีไทย รวมถึงอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญในปีนี้ของ สสว. คือ เป็นหน่วยงานผิดชอบมาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอี เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการของเอสเอ็มอี ที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สสว. ในวงเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว
“ ในแต่ละโครงการจะแบ่งเป็นแต่ละช่วง ซึ่งจะมีในส่วนของผู้ประกอบการใหม่ ผู้ประกอบการที่ยกระดับต่าง ๆ ฉะนั้น วันนี้ผู้ประกอบการมากันหลากหลาย แต่ละโครงการก็มีเป้าหมายซึ่งรับไปดูแลในแต่ละพื้นที่ ” ผอ. สสว. กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นายนิติ วิทยาวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะหน่วยร่วมดำเนินการ กล่าวว่า ในฐานะ มทร.ธัญบุรี ถือเป็นหน่วยร่วมในโครงการของ สสว.ในปีนี้ ซึ่งได้ช่วยเหลือส่งเสริมผู้ประกอบกาเอสเอ็มอี เป็นรูปแบบการทำงานที่ดีมาก เป็นการบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆเกือบ 30 หน่วยงาน มาช่วยกันพัฒนาและส่งเสริมเอสเอ็มอี มทร.ธัญบุรี เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีศักยภาพ มีทั้งอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา มีทรัพยากรต่าง ๆ ที่สามารถมาช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยได้ และถ้าผู้ประกอบการอยากจะพัฒนายกระดับ เชื่อว่า เศรษฐกิจของประเทศน่าจะดีขึ้น
มทร.ธัญบุรี เป็นหนึ่งในหน่วยร่วมสำคัญ ที่ได้ร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่ง มทร.ธัญบุรี และหน่วยร่วมอื่นที่ได้รับคัดเลือกถือว่ามีศักยภาพและทรัพยากรอย่างเต็มกำลังในการเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการทั่วประเทศตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ ซึ่ง มทร.ธัญบุรี รับผิดชอบพื้นที่เขตภาคกลางและปริมณฑล ช่วยเหลือผู้ประกอบการ 1,500 ราย ในด้านการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ด้วยการนำสินค้า ผลิตภัณฑ์เข้าสู่การจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน การให้ทักษะความรู้ เทคนิคและวิธีการต่าง ๆ โดยมีศูนย์นวัตกรรมและความรู้ ของ มทร.ธัญบุรี ‘RMUTT Innovation & Knowledge’ ทำหน้าที่หลักในการช่วยเหลือ โดยปี 64 นี้ จะโฟกัสการพัฒนาทักษะออนไลน์ การเจรจาจับคู่ธุรกิจกับต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน และการผนึกกำลังกับแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมั่นคง สอดรับกับสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ และสร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจต่อไป
“ปี 63 เราได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการเกือบ 2,000 ราย สามารถสร้างยอดขายให้ผู้ประกอบการได้ 300 กว่าล้านบาท และในปี 64 เราโฟกัสที่จะทำให้เข้มข้นมากขึ้น จัดอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการทำแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดประมาณ 1,500 ราย นอกจากใช้เครื่องมือออนไลน์แล้ว เราจะทำการmatching กับตลาดต่างประเทศ ซึ่งในปี 63 ได้ทำการตลาดไปที่ประเทศจีน บนเถาเป่า บนทีมอลล์ของประเทศจีน ซึ่งมีผู้ประกอบการหลาย ๆ ที่ได้เข้าแพลตฟอร์มนี้แล้ว ทำให้มียอดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นภาพรวม ที่ มทร.ธัญบุรี มาช่วย สสว.ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว ”นายนิติ กล่าว ทิ้งท้าย
#มทร.ธัญบุรี #สสว. #เอสเอ็มอี #สมัครด่วน
05 มีนาคม 2564
ผู้ชม 592 ครั้ง