นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้รับการประสานจากองค์กรฝึกงานด้านเทคนิคสำหรับชาวต่างชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น (Organization for Technical Intern Training: OTIT) ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ ข้อแจ้งที่สำคัญสำหรับผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคไทยในประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบปัญหาเนื่องจากการตั้งครรภ์ระหว่างการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ เพื่อให้ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯทราบการปฏิบัติตนเมื่อตั้งครรภ์ในประเทศญี่ปุ่น สิทธิประโยชน์ และการรับความช่วยเหลือต่างๆ สำหรับประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นอีกตลาดแรงงานสำคัญที่แรงงานไทยจำนวนมากนิยมเดินทางไปทำงาน ด้วยจำนวนรายได้ สภาพความเป็นอยู่ ตลอดจนเทคนิค ทักษะการทำงานเฉพาะ ที่สามารถนำมาปรับใช้ และยกระดับการทำงานในประเทศไทย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น 1,700 คน และ Re-entry 137 คน รวมทั้งสิ้น 1,837 คน
“นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยต่อแรงงานไทยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ยิ่งมิให้ละเลย กำชับให้กระทรวงแรงงาน ติดตามดูแลความเป็นอยู่ การเข้าถึงสวัสดิการที่ต้องได้รับตามกฎหมาย และช่องทางช่วยเหลือหากประสบปัญหาอย่างใกล้ชิดเสมอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคไทยในญี่ปุ่นเมื่อตั้งครรภ์ไม่ต้องกังวล ขอให้รับทราบและปฏิบัติตามข้อแจ้งที่สำคัญจากองค์กรฝึกงานด้านเทคนิคฯ (OTIT) ดังนี้
1. การปฏิบัติตนเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ - ผู้ฝึกปฏิบัติงานฯ ที่ทราบว่าตนตั้งครรภ์ให้ติดต่อแจ้งการตั้งครรภ์ไปยังเขตปกครองในท้องที่ที่อาศัยอยู่ หรืออาจขอรับคำปรึกษาจากองค์กรฝึกงานด้านเทคนิคสำหรับชาวต่างชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น (OTIT) ที่เปิดให้คำปรึกษาแนะนำในท้องที่ที่อาศัยอยู่ เมื่อติดต่อยื่นเรื่องแจ้งการตั้งครรภ์แล้วทางอำเภอหรือตำบลจะออกคู่มือประจำตัวแม่และทารก รวมทั้งบัตรรับตรวจสุขภาพผู้ตั้งครรภ์ เพื่อเข้ารับการตรวจครรภ์ตามกำหนด
2. การฝึกปฏิบัติงานระหว่างตั้งครรภ์ - การตั้งครรภ์ไม่ถือเป็นสาเหตุให้ออกจากงาน หรือให้ความไม่เป็นธรรมต่อบุคคลนั้นๆ หากผู้ฝึกปฏิบัติงานฯ ประสงค์ที่จะทำงานต่อ สามารถทำได้ตามที่ต้องการ โดยขอลาหยุดงานได้ก่อนถึงกำหนดคลอด 6 สัปดาห์ และหากช่วงที่ลาหยุดงานไม่ได้รับเงินเดือน ทั้งก่อนและหลังคลอดสามารถรับเงินช่วยเหลือค่าคลอดได้จากประกันสวัสดิการสุขภาพจากเงินที่จ่ายประจำ ประมาณร้อยละ 60
3. การฝึกปฏิบัติงานหลังจากคลอดบุตร - หลังจากคลอดบุตรแล้ว 8 สัปดาห์ ผู้ฝึกปฏิบัติงานฯ จะสามารถกลับไปฝึกปฏิบัติงานได้ตามปกติ แม้ว่าจะขอลาหยุดงานและเดินทางกลับมาคลอดบุตรที่ประเทศไทย ก็สามารถกลับไปฝึกปฏิบัติงานได้ โดยจะต้องยื่นเรื่องต่อองค์กรฝึกงานด้านเทคนิคสำหรับชาวต่างชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น (OTIT) และแจ้งองค์กรกำกับดูแลเกี่ยวกับการกลับเข้าไปฝึกปฏิบัติงานหลังจากคลอดบุตร
“ทั้งนี้ ผู้ฝึกปฏิบัติงานฯ สามารถติดต่อไปยังองค์กรฝึกงานด้านเทคนิคสำหรับซาวต่างชาติ แห่งประเทศญี่ปุ่น (OTIT) เพื่อปรึกษาขอคำแนะนำหรือขอรับความช่วยเหลือเป็นภาษาไทยได้ในวันพฤหัสบดี เวลา 11.00 -19.00 น. และวันอาทิตย์ เวลา 09.00 -17.00 น. (เวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น) หมายเลขโทรศัพท์ 0120-250-198 เว็บไซต์ https://www.support.otit.go.jp/soudan/th/ สำหรับปัญหาหรือข้อกังวลเรื่องการตั้งครรภ์หรือเรื่องอื่นๆ ในการดำรงชีพสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่เว็บไซต์ www.moj.go.jp/isa/content/930004512.pdf และ www.clair.or.jp/j/multiculture/association/consultation_list.html
สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น สามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทร. 02-245-6708 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
11 มิถุนายน 2564
ผู้ชม 435 ครั้ง