กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เชิญชวนเจ้าของกิจการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ ตามมาตรา 26 พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพ ผลิตภาพในวงจรการผลิต มีแต่ได้ไม่มีเสีย
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้ กพร. ดำเนินการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพใน 3 มิติทั้ง New skill Re skill และ Up skill เพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานฝีมือ รักษาสภาพการทำงาน และสร้างโอกาสการมีงานทำให้แก่แรงงานทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานใหม่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี รวมถึงส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้แก่สถานประกอบกิจการอีกทางหนึ่งด้วย
นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ดำเนินการตามมาตรา 26 ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 เชิญชวนให้นายจ้าง และสถานประกอบกิจการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือกพนักงาน
เข้าทำงาน กำหนดอัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนตามทักษะฝีมือ พิจารณาเลื่อนตำแหน่งงาน พัฒนาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมซึ่งส่งผลดีต่อสถานประกอบกิจการในแง่ของการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ช่วยลดการสูญเสียในวงจรการผลิต
ลดต้นทุน ลดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานได้ โดยขั้นตอนจะทำร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับ สพร.หรือ สนพ.ในการจัดตั้งคณะทำงานในการวิเคราะห์ตำแหน่งงาน จัดทำข้อสอบภาคความรู้ ภาคปฏิบัติ วิเคราะห์ข้อสอบ จัดทดลองทดสอบให้แก่พนักงาน และเสนอต่อคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อขอหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพแล้วนำไปใช้ได้ทันที
ทั้งนี้ เมื่อผู้ประกอบกิจการได้รับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของตนตามมาตรา 26 แล้ว และได้นำมาตรฐานดังกล่าว ไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตนในปีที่ผ่านมา มีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนในแต่ละสาขา ระดับละ 10,000 บาทอีกด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานและนำไปใช้ในการทดสอบให้แก่ลูกจ้างของตน ต่อไป ซึ่งนอกจากประโยชน์ที่สถานประกอบกิจการจะได้รับแล้ว พนักงานหรือลูกจ้างก็จะได้ทราบระดับทักษะฝีมือ และข้อบกพร่องของตนเองเป็นแนวทางการวางแผนพัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและช่วยให้ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมอีกด้วย ในส่วนของผู้บริโภคเป็นการเพิ่มโอกาสและทางเลือกในการบริโภคสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยตรวจสอบได้จากแรงงานผู้มีทักษะฝีมือ
“การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากผู้ประกอบกิจการจัดทำ และนำมาใช้วัดระดับทักษะของพนักงาน กรณีที่พนักงานมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการ สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนพัฒนาบุคลากรต่อไปได้ จึงขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการที่สนใจ เข้าร่วมจัดทำมาตรฐานดังกล่าว สอบถามข้อมูลได้ที่ สพร. หรือ สนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน 02-2451822, 02-6434987 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” อธิบดี กพร. กล่าว
16 กรกฎาคม 2564
ผู้ชม 585 ครั้ง