คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับการอนุมัติโครงการสนับสนุน พัฒนายาจากสารสกัดพืชสมุนไพรและส่งเสริมการปลูกครบวงจร ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ด้วยงบประมาณ 43 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่จะจัดสร้างโรงงานผลิตยาจากสมุนไพร โดยเริ่มต้นที่ฟ้าทะลายโจรและศูนย์วิเคราะห์ยาจากสมุนไพร เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดโรคโควิด 19 ของประเทศไทย ปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อในแต่ละวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อได้เต็มศักยภาพทำให้เกิดภาวะเตียงขาดแคลน และไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เร่งความต้องการยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมาใช้ในการบำบัดรักษา กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ จึงออกประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในการให้คำแนะนำผู้ป่วยและการจัดบริการผู้ป่วยโควิด-19 แบบ home isolation หรือที่เรียกว่าผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว หรือพิจารณาในการให้ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการน้อย ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องได้รับยา ประกอบกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติรับทราบประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ฉบับที่ 2 และให้การใช้ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย และเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งมีการกำหนดราคาชดเชย ทำให้ปัจจุบันฟ้าทะลายโจรได้รับการยอมรับและมีความต้องการสูง
นอกจากการยกระดับศักยภาพของคณะเภสัชศาสตร์แล้ว มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตจันทบุรี และวิทยาเขตสระแก้ว ยังมีบทบาทหน้าที่ในระบบเกษตรกรรมพืชสมุนไพรครบวงจร โดยใช้พื้นที่ของวิทยาเขต คณาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านเกษตร รวมถึงปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านสมุนไพรมาดูแล บ่มเพาะพืชสมุนไพรต่างๆ โดยเริ่มจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเป็นอันดับแรก จากนั้นจะได้มีการพัฒนาสมุนไพรชนิดอื่น เช่น กัญชง กัญชา ใบกระท่อม ขมิ้นชัน กระชายขาว พลูคาว เป็นต้น
มหาวิทยาลัยบูรพาจะทำหน้าที่ส่วนกลางทางระบบเกษตรกรรมครบวงจร คือ การนำวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาแปรรูปเป็นยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อยอดจากส่วนต้นทางของวงจร (ด้านการปลูกและพัฒนาคุณภาพพืชพันธุ์) ดังนั้นเพื่อให้การสนับสนุน พัฒนายาจากสารสกัดพืชสมุนไพรและส่งเสริมการปลูกครบวงจร ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเพื่อพัฒนาศูนย์การผลิต วิเคราะห์ยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งให้ความรู้ในการส่งเสริมการปลูกเพื่อให้ได้คุณภาพตรงความต้องการในพื้นที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และผู้ประกอบการ ส่วนผลที่คาดว่าจะได้รับ คือเกษตรกรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมียาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่มีคุณภาพมาตรฐานอย่างพอเพียงในการบำบัดโรคโควิด 19 และโรคอื่น ๆ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม ผู้ประกอบการทั้งระดับวิสาหกิจชุมชน และอุตสาหกรรม มีความสามารถในการผลิต ยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่มีคุณภาพมาตรฐาน รองรับผลผลิตจากเกษตรและความต้องการใช้ในประเทศ รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ
23 กันยายน 2564
ผู้ชม 413 ครั้ง