เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจพนักงานในสถานประกอบการจำนวน 2 แห่ง แห่งแรก บริษัท เซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ตั้งอยู่ที่ ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา มีผู้ประกันตน จำนวน 866 คน และแห่งที่สอง บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด ต.สะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา มีผู้ประกันตน จำนวน 234 คน ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำยางข้น ยางแผ่นรมควันในประเทศและต่างประเทศ โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา คุณคู เชง ลี ออง กรรมการและผู้อำนวยการโรงงาน บริษัท เซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) ดร.ถาวร เรืองวรุณวัฒนา ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดยนายสุชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณและชื่นชมท่านผู้บริหารของบริษัททั้งสองแห่งที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริมรักษาการจ้างงาน เพื่อให้ลูกจ้าง มีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี แม้ในภาวะวิกฤต จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ยังคงอยู่เรายังคงต้องร่วมกัน ผนึกกำลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ผมเองในฐานนะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เพราะพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศมีความเจริญ ก้าวหน้าและมั่นคง
ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการด้วยมาตรการสำคัญ ๆ ดังนี้ โครงการ Factory Sandbox การตรวจคัดกรองเชิงรุก RT-PCR 100% ภายใต้โครงการ “แรงงาน...เราสู้ด้วยกัน”การตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนเพื่อผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรการเยียวยาผู้ประกันตนผ่านโครงการ ม33 เรารักกัน การเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัด การลดเงินสมทบและเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เป็นต้น สำหรับในส่วนของจังหวัดสงขลา กระทรวงแรงงานได้มอบเงินเยียวยาแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33,39 และ 40 เป็นผู้ประกันตน 512,686 คน นายจ้าง 5,422 คน เป็นเงิน 5,139,554,000 บาท โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs รัฐบาลช่วยนายจ้างรักษาการจ้างงานเพื่อให้ลูกจ้างมีงานทำ นายจ้าง 5,327 ราย ลูกจ้าง 113,325 ราย เป็นเงิน 339,975,000 บาท
07 มกราคม 2565
ผู้ชม 407 ครั้ง