นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึง การดำเนินการยกระดับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับดูแลของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ว่า ตามที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายการพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมด้านการศึกษา สุขภาพ การมีงานทำที่เหมาะสมกับประชากรทุกกลุ่ม ทั้งในระบบและนอกระบบให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงานได้รับรายได้ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายที่สำคัญของกระทรวงแรงงานในปี 2565 ในด้านการบริหารจัดการแรงงานกลุ่มเปราะบาง และคนพิการให้ได้รับสิทธิและความคุ้มครองด้านแรงงาน มีรายได้ที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยตนได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณายกระดับศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานทั้ง 5 แห่ง ให้มีความพร้อมในการให้บริการลูกจ้างและผู้ประกันตนแบบครบวงจร เพื่อให้พี่น้องแรงงาน ลูกจ้าง ผู้ประกันตนสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เป็นภาระต่อสังคม สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว และกลับมาเป็นกำลังในการช่วยกันพัฒนาประเทศต่อไปได้
ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 2 จังหวัดระยอง ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 3 จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 4 จังหวัดขอนแก่น และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 จังหวัดสงขลา ซึ่งดูแลครอบคลุมครบทุกภาคทั่วประเทศ โดยในปี 2564 มีลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานจนสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ มาเข้ารับบริการ จำนวน 1,251 คน ที่ผ่านมาทั้ง 5 ศูนย์นี้ ได้ทำหน้าที่ฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนแบบองค์รวม ทั้งฟื้นฟูสภาพร่างกาย ปรับสภาพจิตใจ และฝึกอาชีพให้กับลูกจ้าง สำนักงานประกันสังคม ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยพัฒนาศักยภาพของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ให้มีความพร้อมในการให้บริการลูกจ้างและผู้ประกันตนแบบครบวงจร ทั้งในด้านบุคลากรมีนักสังคมสงเคราะห์คอยให้คำปรึกษา และนักกายภาพบำบัด พร้อมเครื่องมือในด้านการบำบัดฟื้นฟูทางการแพทย์ ผู้เข้ารับการฟื้นฟูจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การฝึกให้ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง การออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง การใช้กีฬา-ดนตรีบำบัด รวมทั้งเรียนรู้และฝึกอาชีพอิสระต่าง ๆ เช่น การซ่อมคอมพิวเตอร์ การซ่อมเครื่องไฟฟ้า การร้อยลูกปัด เป็นต้น ผู้ที่ผ่านการฟื้นฟูแล้ว สำนักงานประกันสังคมได้ประสานบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ในพื้นที่พิจารณางานที่เหมาะสม เพื่อพร้อมเข้าสู่การทำงานอีกครั้ง ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมพร้อมมุ่งมั่นพัฒนางานเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกจ้างผู้ประกันตนที่เปรียบเสมือนครอบครัวประกันสังคมเป็นสำคัญ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 ให้บริการไม่เว้นวันหยุดราชการตลอด 24 ชั่วโมง
18 มกราคม 2565
ผู้ชม 330 ครั้ง