รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานห่วงการเกิดอุบัติเหตุความไม่ปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง เตือนนายจ้างเพิ่มความระมัดระวัง สั่ง กสร. คุมเข้มให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ อย่างเคร่งครัด หากพบฝ่าฝืนดำเนินคดีทันที
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยงานก่อสร้างนั้นเป็นลักษณะงานที่มีความเสี่ยงในเรื่องความไม่ปลอดภัยต่อการปฏิบัติงานของลูกจ้าง และมีความเป็นอันตรายสูงซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง เช่น จากเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้าง หรือจากงานขุดหรือเจาะทำให้ดินสไลด์ พังทลาย เป็นต้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความห่วงใยต่อนายจ้าง ลูกจ้าง ในเรื่องความปลอดภัยในการทำงานจากงานก่อสร้าง ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของกิจการประเภทก่อสร้าง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนายจ้างในการดำเนินมาตรการเชิงป้องกันและปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2564 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ พ.ศ. 2564 รวมถึงกฎกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ออกตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เพื่อมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือควบคุม และกำกับดูแลอย่างจริงจัง พร้อมย้ำหากนายจ้างผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่สถานประกอบกิจการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงได้รับความเสียหายหรือต้องหยุดการผลิต เช่น เพลิงไหม้ ระเบิด สารเคมีรั่วไหล รวมถึงกรณีลูกจ้างเสียชีวิตให้นายจ้างแจ้งต่อพนักงานตรวจความปลอดภัยในพื้นที่ทราบทันที และต้องแจ้งแบบ สปร. 5 ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง กำหนดแบบแจ้งการเกิดอุบัติภัยร้ายแรง หรือในกรณีที่มีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ตามกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ให้ส่งสำเนาหนังสือแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่แจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมให้พนักงานตรวจความปลอดภัยในพื้นที่ทราบ หากพบว่านายจ้างไม่ดำเนินการดังกล่าวต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ด้วย ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้มอบหมายให้พนักงานตรวจความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการปฏิบัติงานของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้างให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยจากความเสี่ยงและอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากงานก่อสร้าง พร้อมเน้นย้ำให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ เกี่ยวกับงานก่อสร้าง และเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ อย่างเคร่งครัด หากนายจ้างและลูกจ้างมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานมาตรฐานวิศวกรรมความปลอดภัยในการทำงาน กองความปลอดภัยแรงงาน 0 2448 9128 - 39 ต่อ 303-305
19 มกราคม 2565
ผู้ชม 388 ครั้ง