ผู้ช่วยศาสตราจารย์เดชา พลเสน คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine of Growth) ของประเทศ มีเป้าหมายการผลิตและการใช้ EV ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ในระยะที่ 1: ปี 2564–2565 จะนำร่องส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั่วประเทศ ระยะที่ 2 : ปี 2566–2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คันรถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่
เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรกและถือว่าเป็นเป้าหมายการผลิตในระดับ Economy Scale ระยะที่ 3 : ปี 2569–2573 ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่ง และรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์จะมีการผลิตทั้งสิ้น 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตในปี 2573 และรวมถึงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศด้วย และจากที่ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาวิชาชีพ ภายใต้ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ได้มีการจัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองนโยบายตามรัฐบาล ไทยแลนด์ ๔.๐ ซึ่งเป็นโมเดลพัฒนา เศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value - Based Economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิทย์ วงษ์ยืน ผู้รับผิดชอบโครงการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ จนก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคต จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้านยานยนต์ให้มีความพร้อมด้านทักษะและความสามารถรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าว สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ศูนย์นนทบุรี จึงได้จัดโครงการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดให้กับบุคลากรทั่วไปที่สนใจ เป็นโครงการบริการทางวิชาการแบบหารายได้ตามแผนพัฒนาและหารายได้ของมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีทักษะการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด และผู้ผ่านการอบรมสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้จากการอบรมไปใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างแท้จริง
24 กุมภาพันธ์ 2565
ผู้ชม 556 ครั้ง