นักศึกษาสาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพ ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยเพาะช่าง จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ที่ 18-20 และ 25-27 มีนาคม 2565 ณ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า “Final_32.psd” ไม่ ขอ แก้ เพิ่ม!! ทั้งนิ้จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 18 มีนาคม 2565 เวลา 16.30 น. โดยมีการปล่อยภาพผลงานเรียกน้ำย่อยมาให้ชมกันดังต่อไปนี้
ผลงานชิ้นแรก เป็นของ นายณัฐพงษ์ กิ่งศักดิ์ (สายฟ้า) ชื่อผลงานว่า “Once upon a time” เป็นการสร้างสรรค์งานโดยได้แรงบันดาลใจจากบุคคลที่พานพบในชีวิตของเขา และได้เรียนรู้ประสบการณ์จากบุคคลเหล่านั้น ตลอด 22 ปี ในชีวิตของเขา สายฟ้ากล่าวว่า ”ถ้าไม่ได้เจอหรือเรียนรู้ประสบการณ์จากบุคคลเหล่านั้นแม้แต่คนเดียว ชีวิตในวันนี้อาจจะไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้” จึงอยากเก็บบันทึกความทรงจําที่เคยเกิดขึ้นและเกี่ยวข้องของผู้คนเหล่านั้นออกมาเป็น"ภาพถ่ายบุคคล" เพื่อคอยย้ําเตือนตัวเองว่า ”เรามีวันนี้ได้เพราะอะไรหรือเพราะใคร” โดยกระบวนการทํางานใช้เทคนิค Cyanotype ปริ้นลงบน Pallet wood ซึ่งเหตุผลในการใช้เทคนิคนี้เพราะว่าข้าพเจ้ามองว่าการบวนการของ Cyanotype เปรียบเสมือนงาน Art craft ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งในเรื่องของโทนภาพและกระบวนการที่ทําโดยเป็นการเพิ่มคุณค่าให้ตัวงานเพื่อสื่อถึงคุณค่าของผู้คนเหล่านั้นและคุณค่าของตัวผมเอง และเหตุผลของการปริ้นลงบนไม้พาเลทนั้นผมมีมุมมองว่าไม้พาเลทนั้นไม่ใช่ชื่อของไม้ แต่มันคือไม้หลายๆชิ้นเอามาประกอบรวมกัน จนกลายเป็นพาเลท เปรียบดั่งตัวตนของผมที่เกิดจากประสบการณ์หลายๆอย่างหล่อหลอมจนเป็นผมในทุกวันนี้
ผลงานต่อมาเป็นของ นางสาววรรษมน อักษรกุล หรือ สเกล เป็นผลงานเกี่ยวกับ ภาพจำของดอกไม้ (Memories of Flowers)
สเกลเล่าว่า โดยส่วนตัวมีภาพจำต่อดอกไม้ ว่ามันมีสีสัน สดใส เบ่งบานอยู่เสมอ ตั้งแต่เด็กจนโต เพราะในซอยหมู่บ้าน มีคุณป้า คุณยายเยอะ พวกเขาชื่นชอบ และรักในการปลูกต้นไม้ประดับบริเวณหน้าบ้านของพวกเขาเอง ทำให้ซอยในหมู่ เต็มไปด้วยสีสันสดใส ที่แต่งเติมด้วยดอกไม้ ทำให้เกิดภาพจำในหัว ว่าดอกไม้ มักมีสีสันสดใสอยู่เสมอ จึงหยิบยกภาพดอกไม้ขึ้นมา เพื่อนำเสนอเทคนิค การลวงตาด้วยสี ที่จะลวงตาให้สีของดอกไม้ในภาพ มีสีสันขึ้นมา ซึ่งการลวงตาด้วยสีนั้น ทำให้เรามองสีผิดพลาดไปจากสีความเป็นจริง สาเหตุก็เพราะ สีกราฟฟิกต่างๆและสีของพื้นหลัง เป็นสิ่งเร้าที่ทำให้ตาของเราเติมสีลงไปในภาพเอง โดยเกิดจากตาของเราจะมองเห็นภาพและส่งภาพไปที่สมองเพื่อให้สมองประมวลผล สมองจึงต้องใช้วิธีลัดทุกวิธีที่จะได้ผลลัพธ์ออกมาให้เร็วที่สุด จึงเกิดการประมวลผลที่ไม่ละเอียด และคาดคะเนออกมาคร่าวๆว่า ภาพๆนั้น มีสีขึ้นมา
ผลงานต่อมา เป็นของนางสาวกรรกร สิงห์ลอ หรือ เนส กับผลงานชุดภาพถ่ายชื่อ “บ้านจวง” โดยมีที่มาคือ ตัวเนสเองเป็นเด็กต่างจังหวัดและได้ก้าวเข้ามาเป็นสมาชิก บ้านจวง (บ้านเช่า) เนื่องจากเข้ามาศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในกรุงเทพมหานคร บ้านจวงเป็นบ้านที่มีเด็กที่ศึกษาศิลปะอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวเพื่อศึกษาเล่าเรียนและใช้ชีวิตตลอดการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย แน่นอนความผูกพันก็ตามมา ความผูกพันนั้นเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวัน การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การปาร์ตี้สังสรรค์หรือทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ตามมาด้วยการเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งดีร้ายที่เกิดขึ้นก็ล้วนมาจากคนในบ้าน จึงอยากบันทึกภาพทรงจำที่มีต่อบุคคลในบ้านที่ให้อารมณ์และความรู้สึกผูกพันและหวนคิดถึงวันวาน
และสุดท้ายที่นำมาฝาก คือผลงานของ นายรติชน เตี้ยเนตร หรือจ็อบ ชื่อผลงานคือ “สภาวะภวังค์” (REVERIE STATE) เจ้าตัวบอกว่าอยากนำเสนอประสบกาณ์ของตัวเองที่มีต่อความรู้สึกในสภาวะภวังค์นี้เพื่อเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเอง โดยการถ่ายวิดีโอออกมาผ่านรูปแบบของการถ่ายการเกิดปฏิกิริยาฟองสบู่ที่มีลักษณะของสสารที่ไม่คงที่สามารถแปรผันได้ตลอดเพราะการเกิดสีของตัวฟองสบู่นั้นถ้าไม่ผ่านการแทรกสอดของแสงที่ตกกระทบลงบนพื้นผิวของฟองสบู่ก็ไม่อาจเกิดภาพที่เรามองเห็นเป็นสีเหล่านี้ได้เช่นเดียวกับความคิดและจินตนาการผมจึงเปรียบได้ว่า แสง คือ ความคิด จิตใจ คือ กล้อง และจินตนาการ คือ ตัวฟองสบู่
ทั้งหมดทั้งมวลที่นำมาฝากวันนี้แค่ส่วนเล็กๆ ของงานเท่านั้น ยังมีผลงานภาพถ่าย ซึ่งประกอบไปด้วยภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวภายใต้คอนเซ็ปต์ต่างๆ ของศิลปินนักศึกษาจำนวน 44 ชีวิต โดยทุกคนสามารถไปร่วมสัมผัสงานศิลปะเหล่านี้ได้ ในช่วง วันที่ 18-20 มีนาคม 2565 และช่วงที่สองระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม 2565 ณ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ เยาวราช ตามแผนที่นี้ Map : https://goo.gl/maps/55Vo4mZCpDizpJ2y7 และฝากติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่ : https://web.facebook.com/32SICK
16 มีนาคม 2565
ผู้ชม 719 ครั้ง