เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ 2/2565 เรื่อง Future Education For Future Career ควบคู่กับการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook และ Youtube ภายใต้ชื่อ “สภาวะการศึกษาไทย สกศ.” และช่องทาง “OEC News สภาการศึกษา” ร่วมแชร์ โดยมี นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา นางประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ พร้อมด้วยผู้แทนจากภาคเอกชน ครู นักเรียน และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดงานความสำคัญตอนหนึ่งว่า สกศ. ในฐานะองค์กรหลักในการวางแผนการศึกษาของชาติ ได้ผลักดันการสร้างพิมพ์เขียวเพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ (Skill Mapping) ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนรู้ได้ตามความถนัดของตนเอง โดยกำหนดเป้าหมาย “เด็กไทย 2025 เพื่อเศรษฐกิจไทย” และยึดโยงกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 หรือ SDGs ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างสมดุลใน ๓ มิติระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า บทบาทความเป็นเข็มทิศทางการศึกษาของ สกศ. นอกจากจะขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยเป็นฐาน จะต้องผสานความคิดและประสบการณ์จากนักเรียน คุณครู และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา (Stakeholder) เชื่อว่า การประชุม OEC Forum ครั้งนี้ จะเป็นการหลอมรวมองค์ความรู้จากทุกส่วน เพื่อสร้างผลลัพธ์สู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะของตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
“สถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง (VUCA World) จากความก้าวหน้าทางดิจิทัล และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) เป็นปัจจัยเร่งที่เข้ามาเปลี่ยนความคุ้นเคยของชีวิต เช่นเดียวกับการศึกษาออนไลน์ที่กลายเป็นเรื่องปกติใหม่ (New Normal) ของนักเรียนทั่วโลก รูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปเช่นนี้นำไปสู่สมรรถนะและอาชีพใหม่ ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักการศึกษาจะต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ความสนใจที่หลากหลาย และสร้างผู้เรียนสู่การเป็นนวัตกรของประเทศ ”ดร.อรรถพล กล่าว
.
.
ด้านนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด บรรยายเรื่อง Future Education in the Disruptive World โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการเข้าร่วม World Economic Forum (WEF) หรือการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก มีความสำคัญตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ผู้นำทั่วโลกให้ต่างจับตามองในขณะนี้คือ การสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล (Digital Inclusion) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยผลักดันให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ การบริการด้านสุขภาพ รวมถึงการศึกษาที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันสร้าง “Open Education Platform” แพลตฟอร์มการศึกษาให้เป็นระบบเปิด ทั้งเปิดกว้างในการเข้าถึง และเปิดกว้างด้านเนื้อหา หรือ คอนเท้นต์(Content) ที่ไม่จำกัดด้วยวุฒิการศึกษา แต่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ สามารถเข้ามาสร้างคอนเท้นต์การเรียนรู้ที่มีประโยชน์ และแข่งขันการสร้างคอนเท้นต์คุณภาพให้ได้รับความนิยมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนต่อไป
.
ทั้งนี้ เรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาเพื่อให้ประชาชนเข้าใช้ง่ายได้ฟรี คือ Connectivity – สัญญาณอินเทอร์เน็ตคุณภาพ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน นำไปสู่โลกการเรียนรู้ตลอดเวลาและตลอดชีวิตอย่างแท้จริง ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างทางทักษะ (Skill Gap) ให้กำลังคนมีสมรรถนะที่ทันสมัยและตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ และ Digital ID – ระบบยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับบริการทางสังคม ครอบคลุมทั้งมิติการเงิน สุขภาพ และการศึกษา โดยภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมหาแนวทางลดต้นทุนการเข้าใช้งาน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการคุณภาพอย่างเท่าเทียม
14 มิถุนายน 2565
ผู้ชม 364 ครั้ง