เมื่อวันที่ 26 กันยายน - ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง สภาวะการศึกษาไทย ปี 2565 โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา นางอำภา พรหมวาทย์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา พร้อมด้วย นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และบุคลากรสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) โดยถ่ายทอดสดผ่านสื่อดิจิทัล Facebook และ Youtube .ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน
ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง การศึกษาไทย ปี 2565 ว่า ในยุคปัจจุบันต้องให้ความสำคัญการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STI & STEAM) อย่างมีคุณภาพ ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสภาวะการศึกษาไทย ปี 2565 นับว่า เป็นการสร้างโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้แทนสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร (UNESCO Bangkok) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (UNICEF Thailand) ธนาคารโลกในประเทศไทย (World Bank Thailand) สํานักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO Secretariat) เยาวชน และภาคเอกชน เพื่อร่วมกันสะท้อนภาพความจริงของการศึกษาระดับประเทศ สู่การจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาที่สอดคล้องและรองรับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป
ปัจจุบันระบบการให้บริการการศึกษาทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการสอนเรื่องเทคโนโลยีในโรงเรียนเป็นอย่างมาก การจัดการเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ หรือ CODING เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายที่จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครูและผู้ปกครองเข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน ในการเรียนแบบ CODING มีทั้งแบบใช้คอมพิวเตอร์ (IN-PLUG) และไม่ใช้คอมพิวเตอร์ (UNPLUGGED) ซึ่งในการเรียน CODING จะช่วยบ่มเพาะสมรรถนะ ที่จำเป็นในอนาคต สรรสร้างให้มีทักษะการคิด ประมวลผลแยกแยะ อย่างมีหลักการและตรรกะ ทั้งนี้ การเรียน CODING จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถคิดได้อย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ในเรื่องของคุณภาพการศึกษาไทยต้องได้รับการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์การอ่าน และภาษาต่างประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และต้องส่งเสริมให้เด็กไทยเกิด Growth Mindset สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยโอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อัตราการเข้าเรียนของเด็กไทย มีแนวโน้มลดลงในระดับการศึกษาสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีแนวโน้มจำนวนกำลังคนสมรรถนะสูงไม่เพียงพอในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการศึกษา ระบบการศึกษาต้องมีความยืดหยุ่นตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้เรียน ความต้องการแรงงานของสถานประกอบการและความเปลี่ยนแปลงในยุค BANI World
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษาไทยยังต้องเร่งพัฒนาสมรรถนะทางการศึกษาให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินใจเข้าลงทุนในประเทศไทย นำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนในประเทศ
นายแพทย์สุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รศ.ดร.วีรชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนายสมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เกี่ยวกับการศึกษาสร้างอนาคตไทย ภาวะถดถอยทางการศึกษา และแนวทางการฟื้นฟู ซึ่งที่ ประชุมร่วมกันเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง สภาวะการศึกษาไทย ปี 2565 เห็นว่า การแพร่ระบาด Covid-19 เป็นปัจจัยหลักที่ส่งกระทบต่อคุณภาพการศึกษาไทยที่ลดลง ทำให้ต้องเร่งจัดทำ “การฟื้นฟูการเรียนรู้และการเร่งรัดประสิทธิผลของการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา (Learning Recovery and Education Opportunities Effectiveness Accelerations)” พบว่า อัตราการเข้าเรียนของเด็กไทยที่ลดลง ส่งผลให้จำนวนกำลังคนสมรรถนะสูงของไทยอาจไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ จึงต้องเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา ปรับเปลี่ยนวิธีในการจัดสรรงบประมาณให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง
28 กันยายน 2565
ผู้ชม 419 ครั้ง