นายวุฒิพล ทับธานี รองเลขาธิการ กศน. กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการออมสิน - กศน. “สร้างงานให้เป็นเงิน” ระหว่างสำนักงาน กศน. กับ ธนาคารออมสิน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ ว่า นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและนโยบายของสำนักงาน กศน. ต้องการผลักดันด้านพัฒนาทักษะอาชีพ การส่งเสริมให้ประชาชนได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ฝึกอบรมอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เพิ่มทักษะความสามารถโดยการ Up-Skill Re-Skill และ New-Skill รวมทั้งสร้างช่องทางอาชีพในรูปแบบที่หลากหลายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เน้นการฝึกทักษะอาชีพด้วยการพัฒนาหลักสูตรอาชีพระยะสั้นที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ความต้องการของตลาดแรงงาน ยกระดับผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการจากโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน “ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ตลอดจนให้มีคุณภาพ มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาด ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์และช่องทางการจำหน่าย
การส่งเสริมให้ประชาชนได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำนักงาน กศน. จึงจัดทำโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด พร้อมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี
นายวุฒิพล กล่าวต่ออีกว่า การผนึกกำลังในการดำเนินงานโครงการออมสิน – กศน. “สร้างงานให้เป็นเงิน” ได้ดำเนินการแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ สำนักงาน กศน. ร่วมกับ ธนาคารออมสิน จัดโครงการออมสิน – กศน. “สร้างงานให้เป็นเงิน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ ให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีทักษะในการประกอบอาชีพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมพัฒนาต่อยอดความรู้ผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมฝึกอาชีพกับ กศน. ตามโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เช่น ผู้ว่างงาน นักศึกษาจบใหม่ ผู้เริ่มต้นประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นลูกค้าธนาคารออมสิน หรือผู้คาดว่าจะเป็นลูกค้ากับธนาคารในสังกัดสำนักงาน กศน.จังหวัด (นำร่อง) จำนวน ๑๕ แห่ง และสำนักงาน กศน.กทม. จำนวน ๓ แห่งตามจังหวัดที่ตั้งของธนาคารออมสินภาคกำหนด รวม ๑๘ แห่ง โดยกำหนดแบ่งกลุ่มเป้าหมายจังหวัดสถานศึกษาละ 2 แห่ง รวมจำนวนสถานศึกษานำร่องโครงการฯ ๓๖ แห่ง
สำนักงาน กศน.จังหวัด (นำร่อง) จะดำเนินการฝึกอาชีพและเพิ่มทักษะอาชีพให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน ๕,๐๐๐ คน ธนาคารออมสินจะสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย Extra วัสดุฝึกอาชีพ และให้ความรู้ทางการเงินและการเข้าถึงแหล่งทุน เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมสำนักงาน กศน.จังหวัด (นำร่อง) จะออกวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรม เพื่อใช้ในการสมัครขอสินเชื่อโครงการออมสิน – กศน. “สร้างงานให้เป็นเงิน” ระหว่าง เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม นายวุฒิพล กล่าว
10 เมษายน 2566
ผู้ชม 230 ครั้ง